You are here: Home / งานวิจัย / โครงการวิจัย / การประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของพื้นที่ศึกษานำร่องในบริบทของจังหวัดต่อสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อภูมิอากาศแบบบูรณาการเชิงพื้นที่แบบองค์รวม

การประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของพื้นที่ศึกษานำร่องในบริบทของจังหวัดต่อสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อภูมิอากาศแบบบูรณาการเชิงพื้นที่แบบองค์รวม

 

Risk Assessment on Pilot Site in Provincial for Holistic Approach Climate Change Adaptation Research Framework Development

 

คณะผู้วิจัย

ชื่อ หน่วยงาน
นางสาวจริยา ฐิติเวศน์ ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลียนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.พนมศักดิ Jพรหมบุรมย์ ศูนย์วิจัยระบบทรัพยากรเกษตร คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ระยะเวลาดำเนินการ

6 เดือน [พฤศจิกายน 2555 - พฤษภาคม 2556]

 

รายละเอียดโดยย่อ

การศึกษาด้านผลกระทบ ความล่อแหลม และการปรับตัวสำหรับในประเทศไทยนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะความรู้เรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยนั้นยังมีอยู่น้อยและมีข้อจำกัดในกรอบการพิจารณาอยู่มาก ทั้งนี้เห็นได้จากการศึกษาเรื่องผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะที่ผ่านมาซึ่งมักดำเนินการโดยเน้นศึกษาแต่เพียงรายภาคส่วน และพิจารณาถึงการปรับตัวโดยการมองจากมุมมองของนักวิจัยในสาขาใดสาขาหนึ่ง (single discipline study) ซึ่งมักจะเป็นมุมมองของนักวิทยาศาสตร์กายภาพเป็นหลัก นอกจากนั้น ข้อจำกัดในด้านการศึกษาวิจัยถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอีกประการหนึ่งคือ ในปัจจุบันนี้ยังมีนักวิจัยที่สนใจศึกษาประเด็นนี้น้อยมากและส่วนหนึ่งก็ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเห็นได้จากในรายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 1 (อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และอำนาจ ชิดไธสง, 2554) ที่ได้พยายามทำการประมวลสถานภาพและสังเคราะห์องค์ความรู้ในประเด็นดังกล่าวเท่าที่มีอยู่ซึ่งนับว่าน้อยมากและยังเป็นองค์ความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าข้อจำกัดด้านองค์ความรู้นี้นำไปสู่ข้อจำกัดในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในการที่จะกล่าวถึงและนำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังไม่มีการควบรวมประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศลงในแผนงานของกระทรวง และ/หรือ แผนพัฒนาจังหวัดหรือแผนพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

การศึกษาวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะนำไปสู่การวางนโยบายและการนำใช้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมจะต้องมีความชัดเจนในการมองประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยสามารถเชื่อมโยงสถานการณ์อนาคตในประเด็นของความเสี่ยงจากสภาพอากาศในอนาคตกับบริบทของพื้นที่ในปัจจุบันและอนาคตจากมุมมองของนักวิจัยหลายสาขา (multi-disciplines study) และวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนา และ/หรือยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมภายใต้พลวัตของระบบเศรษฐกิจสังคม โดยคำนึงถึงความไม่แน่นอนของอนาคต และเสนอแนวทางตัดสินในลักษณะที่เป็นการตัดสินใจที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (robust decision making) ทั้งนี้แนวทางการพัฒนา และ/หรือ ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมควรที่จะตั้งเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็ง (resilience) ของสังคมและระบบเศรษฐกิจประกอบกับการสร้างความทนทาน (robustness) ของแผนพัฒนาต่างๆ ในปัจจุบันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Burton et al, 2009) นอกจากนั้น กรอบการวิเคราะห์วิจัยจะต้องรวมถึงการสร้างความเข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เกิดดำเนินการตามแนวทางนั้นๆ ได้ (enabling factor) อีกทั้งเงื่อนไขที่ทำให้การดำเนินการปรับตัวนั้นๆ ประสบผลสำเร็จและยั่งยืน (critical success factor) รวมทั้งการจัดตั้งกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเหล่านั้น ตลอดจนกระบวนการที่จะควบรวมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้ากับการวางแผนในระดับต่างๆ โดยเฉพาะแผนพัฒนา (Huq and Reid, 2009) เพื่อที่จะนำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์และนโยบายที่ได้จัดตั้งขึ้นนี้ในภายหลัง อีกทั้งขยายผลไปยังการวางแผนระยะยาวในพื้นที่อื่นๆ

 

กรอบแนวคิด

Jariya_Project8_FrmWk-1

กรอบแนวคิดด้านการศึกษาถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเชิงพื้นที่แบบองค์รวม

Jariya_Project8_FrmWk-2

ตัวอย่างการมองภาพองค์รวมของสังคมด้วยความเสี่ยงในอนาคต


วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1) เพื่อประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของพื้นที่ศึกษานำร่องโดยพิจารณาถึงภาคส่วนสำคัญหลายภาคส่วนที่มีการเปิดรับต่อภาวะสภาพอากาศที่ผิดปรกติ และความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผลสืบเนื่องจากภาคส่วนเหล่านั้นที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน

2) เพื่อประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตจาก Climate scenarios ในบริบทของภาคส่วนสำคัญรวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ถึงทิศทางที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจส่งผลให้บริบทของความเสี่ยงของภาคส่วนสำคัญเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

3) เพื่อจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของพื้นที่ศึกษานำร่อง โดยวางกรอบการวิเคราะห์แบบองค์รวม และกำหนดโจทย์วิจัยย่อยเพื่อที่จะศึกษาถึงความเสี่ยงของภาคส่วนสำคัญหรือพื้นที่ย่อยต่างๆ ในพื้นที่ศึกษานำร่องนี้ โดยคำนึงถึงประเด็นแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ (Climate andnon-Climate pressure) ต่อภาคส่วน และ/หรือพื้นที่ย่อยในพื้นที่ศึกษา และผลสืบเนื่องจากภาคส่วนอื่นๆ ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนเหล่านั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เกิดยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในบริบทของจังหวัดและ/หรือยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

 

ขั้นตอนการศึกษาและวิธีดำเนินการวิจัย

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนนี้เป็นการประเมินพื้นที่เพื่อสรรหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเป็นพื้นที่ศึกษานำร่องสำหรับจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อภูมิอากาศแบบบูรณาการเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในบริบทของจังหวัดและยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

1.1. คณะนักวิจัยสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลทุติยภูมิ รายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เคยทำมาในอดีตของพื้นที่ศึกษาในประเทศไทย ตลอดจนรายงานการศึกษาของพื้นที่หรือภาคส่วนที่ถูกระบุว่าได้รับผลกระทบซ้ำซาก/บ่อยครั้ง หรือมีความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่รุนแรง หรือความแปรปรวนของสภาพอากาศ (น้ำท่วม น้ำแล้ง วาตภัย เป็นต้น)

1.2. คณะนักวิจัยวิเคราะห์ความสัมพันธ์และลำดับขั้นความเชื่อมโยงของปัญหาหรือผลกระทบกับตัวแปรทางภูมิอากาศของแต่ละกรณี เพื่อทราบความชัดเจนของประเด็นความเสี่ยงกับปัจจัยทางภูมิอากาศ

1.3. คณะนักวิจัยจำแนกหมวดหมู่ของ climate pressure หรือภัยพิบัติ ประเภทและตัวชี้วัด (ชีวิต ทรัพย์สินเศรษฐกิจ สังคม) และประเมินขนาดของผลกระทบ โดยใช้มาตรวัด (standardized scale)ที่เปรียบเทียบกันได้ รวมทั้งความถี่ที่เกิด และขนาดในเชิงพื้นที่

1.4. จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินผลกระทบในภาพรวมของแต่ละกรณีโดยใช้ตัวชี้วัดและขนาดของผลกระทบในข้อ 1.2 และ 1.3 โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์แบบลำดับขั้น(Analytical Hierarchical Process - AHP) ซึ่งต้องใช้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในการให้ค่าน้ำหนักความสำคัญของแต่ละตัวชี้วัด เพื่อได้ค่าตัวชี้วัดรวมของระดับผลกระทบ (Composite index) ของแต่ละกรณีที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อช่วยในการตัดสินใจคัดเลือกกรณีหรือพื้นที่ศึกษานำร่องต่อไป

1.5. คณะนักวิจัยระบุภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้บริบทของผลกระทบนั้นๆ(affected, coping, mitigation, adaptation & plan)

1.6. คณะนักวิจัยรวบรวบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information Systems, GIS) ซึ่งอาจจะรวมถึงภาพถ่ายดาวเทียม (remote sensing) ที่บ่งชี้ถึงพื้นที่ และภาคส่วนที่ถูกระบุในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น

1.7. คณะนักวิจัยนำข้อมูลที่ได้บูรณาการเป็นฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศเพื่อใช้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อใช้สนับสนุนการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อไป

1.8. คณะนักวิจัยทำการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในเบื้องต้นโดยส่วนใหญ่พิจารณาจากเกณฑ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้างต้น ได้แก่

1) เป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องของหลายภาคส่วน และมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ เผชิญหรือเปิดรับความเสี่ยงที่มีความแตกต่างกัน

2)โดยที่ผลกระทบนั้นมีความเชื่อมโยงกับตัวแปรทางภูมิอากาศอย่างชัดเจน หรือสามารถเชื่อมโยงกับแปรทางภูมิอากาศได้

3)มีผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ในระดับที่รุนแรงและอย่างชัดเจน

4)พื้นที่ที่มีองค์ความรู้เดิมอยู่พอสมควร

ผลที่จะได้รับ พื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกเป็นพื้นที่ศึกษานำร่องจำนวน 2 พื้นที่ โดยมีรายละเอียดของเกณฑ์ชี้วัดในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนนี้เป็นการคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องและประเมินความพร้อมของภาคนโยบายและภาคประชาสังคมที่จะมาร่วมในเครือข่ายวิจัย โดยคำนึงถึงการให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมและการให้ความสนใจ

2.1 จัดประชุมระดมความคิดเห็นจำนวน 2 ครั้ง (ใน 2 พื้นที่ตัวแทน พื้นที่ละ 1 ครั้ง)กับตัวแทนองค์กร และ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการประเมินความพร้อมของบุคลากร และ/หรือ องค์กรที่จะมีส่วนสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการวิจัยในพื้นที่ที่ได้คัดเลือกไว้ในเบื้องต้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ศึกษาเป้าหมายให้เหลือเพียง 1 พื้นที่

2.2 คณะนักวิจัยทบทวนและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ แผนโยบาย หลักการ ตลอดจนแผนดำเนินการต่างๆ ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของหน่วยงานภาคนโยบายในระดับพื้นที่ (อปท.-อบต./ ชุมชน อำเภอและจังหวัด) เพื่อประเมินความพร้อมของภาคส่วนในพื้นที่ และความเชื่อมโยงกับแผน /ยุทธศาสตร์ในประเด็นด้านภูมิอากาศในระดับชาติ (กระทรวง / กรม-กอง) โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่วนหนึ่งได้มาจากการกิจกรรม 2.1 และสืบค้นเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ

2.3 คณะนักวิจัยทำการคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องเพียง 1 พื้นที่โดยพิจารณาจากเกณฑ์ที่ได้จากการประเมินในขั้นตอนที่ 1 ร่วมกับเกณฑ์ในด้านความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของหลายภาคส่วนในบริบทของความเสี่ยงของพื้นที่นั้น และความพร้อมของเครือข่ายวิจัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ผลที่จะได้รับ พื้นที่ศึกษานำร่อง ซึ่งมีรายละเอียดที่ชี้ให้เห็นความเหมาะสมในด้านต่างๆ ตามเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายสำหรับจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อภูมิอากาศเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในบริบทของจังหวัดและยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมขององค์กร และ/หรือหน่วยงานสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการ ศึกษา และการนำผลการศึกษาไปปฏิบัติหรือควบรวมกับแผนงานในพื้นที่ เพื่อนำไปวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงของภาคส่วนสำคัญต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงของภาคส่วนสำคัญที่มีการเปิดรับต่อความแปรปรวนสภาพอากาศและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนพลวัตด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ศึกษาที่อาจจะส่งผลต่อรูปแบบความเสี่ยงของภาคส่วนสำคัญในอนาคตคณะนักวิจัยจะนำพื้นที่ที่ผ่านการคัดเลือกโดยกระบวนการวิเคราะห์และประเมินเปรียบเทียบในขั้นตอนที่ 1 และ 2 มาศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของภาคส่วน และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเข้าใจภาพรวมของพื้นที่ศึกษาและตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น ก่อนนำไปสู่การวิเคราะห์และประเมินแนวโน้มปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อความเสี่ยงความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และความพร้อมของภาคีต่างๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัยต่อไปซึ่งมีแผนการดำเนินงานดังนี้

3.1 คณะนักวิจัยพัฒนาภาพมโนทัศน์ที่อธิบายความซับซ้อนของบริบทของพื้นที่ศึกษา (Systemconceptualization) เพื่อใช้วิเคราะห์เชิงระบบและแบบองค์รวม (System and holistic approaches) โดยจัดประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาและตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ร่วมในการวิเคราะห์ ประเด็นดังต่อไปนี้- ระบุภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ และความเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ ภายใต้บริบทของผลกระทบนั้นๆ(affected, coping, adaptation & plan) และความเกี่ยวโยงปฏิสัมพันธ์กัน (interaction & interconnectivity)

3.2 คณะนักวิจัยดำเนินการวิเคราะห์และประเมินรูปแบบความเสี่ยงของภาคส่วนต่างๆ ต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเสี่ยงในอนาคต และความเชื่อมโยงจากภาคส่วนเกี่ยวข้อง โดยอาศัยข้อมูลตัวแปรอากาศที่ตรวจวัดจริง (อดีต-ปัจจุบัน) และข้อมูลตัวแปรอากาศจากแบบจำลอง (อดีต-อนาคต) ในหลายๆภาพฉายอนาคตของแนวทางของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงแนวโน้มความเสี่ยงต่อพื้นที่จากการเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และรวบรวมประเด็นหลักจากแผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายหลักของภาครัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาที่คัดเลือก เพื่อประเมินและวิเคราะห์ถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่อาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงของภาคส่วนหรือพื้นที่ย่อยเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

3.3 คณะนักวิจัยทำการสรุปประเด็นความเสี่ยงของพื้นที่ศึกษาภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้รู้ในพื้นที่(expert opinion)ในสาขาต่างๆ เช่น ด้านทรัพยากรน้ำ ด้านเกษตร ด้านผังเมือง เป็นต้น เพื่อศึกษาแนวโน้มความเสี่ยงของประเด็นหรือภาคส่วนสำคัญเหล่านั้น พร้อมทั้งหาข้อสรุปถึงประเด็นที่ควรพิจารณาโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ (Expert interview) หรือจัดประชุมกลุ่มย่อย (focus group)ในพื้นที่ศึกษานำร่องจำนวน 2ครั้ง

ผลที่จะได้รับ ภาพฉายสถานการณ์ปัจจุบันความล่อแหลมในพื้นที่ศึกษานำร่อง ซึ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ความเสี่ยงของภาคส่วนหรือพื้นที่ย่อยภายใต้ปัจจัยในด้านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ย่อย/ภาคส่วนสำคัญภายใต้แรงกดดันทั้งจากปัจจัยภูมิอากาศ และที่ไม่ใช่ภูมิอากาศ (Climate and non-Climate pressure)

ขั้นตอนที่ 4 ขั้นตอนนี้เป็นการจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของพื้นที่ศึกษาโดยระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อสังเคราะห์ผลการศึกษาของพื้นที่นำร่องจากกระบวนการข้างต้น จัดทำเป็นชุดของโจทย์วิจัยการศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของพื้นที่ศึกษานำร่องในบริบทของภาคส่วนต่างๆ โดยวางกรอบการสังเคราะห์ผลเพื่อให้ได้ภาพการวิเคราะห์แบบองค์รวม และกำหนดโจทย์วิจัยย่อยเพื่อที่จะศึกษาถึงความเสี่ยงของภาคส่วนสำคัญหรือพื้นที่ย่อยต่างๆ ในพื้นที่ศึกษานำร่องนี้ โดยคำนึงถึงประเด็นแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ(Climate and non-Climate pressure) ต่อภาคส่วน และ/หรือพื้นที่ย่อยในพื้นที่ศึกษา และผลสืบเนื่องจากภาคส่วนอื่นๆภายใต้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนเหล่านั้นโดยการจัดประชุมในพื้นที่ศึกษาเป้าหมายที่ได้คัดเลือกไว้ จำนวน 1 ครั้ง

ผลที่จะได้รับ กรอบวิจัยเชิงองค์รวมและโจทย์วิจัย ที่มุ่งทำความเข้าใจและอธิบายแง่มุมต่างๆ ขององค์ประกอบ(ปัจจัย)ความสัมพันธ์ระหว่างกัน และพลวัตการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นภาพภายอนาคตแบบต่างๆ ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะและการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

ขั้นตอนที่ 5 ขั้นตอนนี้เป็นการนำเสนอผลการประเมินและวิเคราะห์ การรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภาคนโยบาย ภาคประชาสังคม และท้องถิ่น ทั้งจากในพื้นที่ศึกษา และส่วนกลาง ต่อการคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่อง และกรอบการวิจัยในพื้นที่พร้อมทั้งเป็นการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ และบริบทของจังหวัด เพื่อนำไปสู่การหาการสนับสนุนของเครือข่ายในพื้นที่ศึกษาเป้าหมาย และระบุหน่วยงาน/องค์กร/นักวิจัยที่มีความสนใจและแสดงความประสงค์ (แสดงเจตจำนงค์) ที่จะ(ร่วม)ดำเนินการศึกษาวิจัยในเชิงลึกแต่ละรายสาขา/ภาคส่วนในพื้นที่ศึกษานำร่องในเบื้องต้น (การศึกษาในครั้งนี้อาจยังไม่สามารถระบุหรือกำหนดหน่วยงานงาน/องค์กร/นักวิจัยที่จะร่วมดำเนินการศึกษาวิจัยได้ครอบคลุมทุกสาขา/ภาคส่วน) โดยจะดำเนินการจัดการประชุมในพื้นที่ศึกษาจำนวน 1 ครั้ง และส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) จำนวน 1 ครั้ง

ผลที่จะได้รับ เพื่อให้ภาคส่วนในพื้นที่เกิดความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ศึกษาเบื้องต้นและทราบถึงความพร้อมและความร่วมมือขององค์กรหลักในพื้นที่จะมีส่วนสนับสนุน และ/หรือร่วมดำเนินการศึกษา และการนำผลการศึกษาไปปฏิบัติหรือควบรวมกับแผนงานในพื้นที่ ตลอดจนความพร้อมและความสนใจของนักวิจัยรายสาขาต่อหัวข้อวิจัยย่อยชุดโครงการรวมถึงหน่วยงาน/องค์กร/นักวิจัยที่มีความสนใจและแสดงความประสงค์ที่จะ(ร่วม)ดำเนินการศึกษาวิจัยในแต่ละรายสาขา/ภาคส่วนในเบื้องต้นด้วย

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) ผลการประเมินและวิเคราะห์ภาพสถานการณ์ความเสี่ยงปัจจุบันของพื้นที่เป้าหมายศึกษาภายใต้สภาพอากาศและพลวัตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบริบทของความเสี่ยงของภาคส่วนต่างๆจากปัจจัยสำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพื่อใช้จัดทำกรอบและชุดโครงการในพื้นที่เป้าหมายศึกษานำร่อง

2) กรอบการศึกษาและชุดโจทย์วิจัยสำหรับพื้นที่เป้าหมายในการศึกษานำร่อง และหน่วยงาน/องค์กร/นักวิจัยที่มีความสนใจจะมาร่วมดำเนินการศึกษาในแต่ละรายสาขา/ภาคส่วนในเบื้องต้น

3) เกิดความตระหนักแก่นักวิจัย ภาคประชาสังคมและภาคนโยบายที่มีความสนใจต่อประเด็นโจทย์วิจัย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายวิจัยในพื้นที่ศึกษานำร่อง

 

สรุปผลการศึกษา

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในด้านผลกระทบความเปราะบางและการปรับตัวได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นหัวข้อสำคัญด้านการศึกษาวิจัยและการผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายในระดับสากล และกระจายไปในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงประเทศไทยซึ่งยังถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่โดยเฉพาะในด้านของการทำความเข้าใจในเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการประเมินเพื่อนำไปสู่การปรับตัวที่มีความยั่งยืนในอนาคตระยะยาว เหล่านี้ต้องการมุมมองและความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาโดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์เชิงระบบและแบบองค์รวม (System approach and Holistic view) จนถึง ณ ปัจจุบันนับได้ว่าการศึกษาในเรื่องดังกล่าวนี้ในเมืองไทยยังมีอยู่น้อย และส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะบางสาขาวิชา นำไปสู่ข้อจำกัดในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในการที่จะกล่าวถึงและนำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังไม่มีการควบรวมประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศลงในแผนงานของกระทรวง และ/หรือ แผนพัฒนาจังหวัดหรือแผนพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เล็งเห็นว่าเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำการศึกษาด้านด้านผลกระทบความเปราะบางและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้ชัดเจนรอบด้าน

จากประเด็นข้างต้น นำไปสู่ดำเนินการศึกษาวิจัย เรื่อง “การประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของพื้นที่ศึกษานำร่องในบริบทของจังหวัดต่อสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อจัดทำกรอบการศึกษาด้านการปรับตัวต่อภูมิอากาศแบบบูรณาการเชิงพื้นที่แบบองค์รวม” มีวัตถุประสงค์ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องในระดับจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนากรอบโจทย์การศึกษาวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีการมองภาพบริบทเชิงพื้นที่แบบองค์รวม เป็นการสนับสนุนการศึกษาวิจัยลักษณะหลากหลายสาขาวิชา (inter-multi-disciplinary) อันจะช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขาวิชาต่างๆ สร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักของฝ่ายวางแผนนำไปสู่การควบรวมแนวคิดนี้เข้าสู่การปรับปรุงและจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดที่มีความคงทนและยั่งยืนภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศและเศรษฐกิจสังคมในอนาคตระยะยาว จากการศึกษาในโครงการนี้คาดหวังว่าจะสามารถประเมินและวิเคราะห์ภาพสถานการณ์ความเสี่ยงปัจจุบันของพื้นที่ศึกษานำร่องภายใต้สภาพอากาศและพลวัตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบริบทของความเสี่ยงของภาคส่วนต่างๆ จากปัจจัยสำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพื่อใช้จัดทำกรอบและชุดโครงการในพื้นที่เป้าหมายศึกษานำร่อง ที่หน่วยงาน/องค์กร/นักวิจัยมีความสนใจจะมาร่วมดำเนินการศึกษาในแต่ละรายสาขา/ภาคส่วนในเบื้องต้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความตระหนักแก่นักวิจัย ภาคประชาสังคมและภาคนโยบายที่มีความสนใจต่อประเด็นโจทย์วิจัย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายวิจัยในพื้นที่ศึกษานำร่อง

การดำเนินการศึกษาเริ่มจากการคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องในระดับจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่มีความเสี่ยงของหลายภาคส่วนที่สัมพันธ์กับการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนภูมิอากาศที่ชัดเจน นำไปสู่การกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องที่เหมาะสมดังนี้

  1. เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงของภาคส่วนต่างๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ชัดเจน
  2. มีแนวโน้มการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของภาคส่วนการเกษตร เศรษฐกิจ สังคม ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การขยายตัวของชุมชนเมือง เขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคม เป็นต้น อันเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และทิศทางการพัฒนาของจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด และในระดับประเทศ
  3. การเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้เกิดประเด็นคำถามหรือข้อสงสัย (issue of concern)ที่หลากหลายเกี่ยวกับบริบทของความเสี่ยงของภาคส่วนต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไปภายใต้การเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนภูมิอากาศในอนาคต
  4. มีองค์ความรู้เดิม มีนักวิจัยให้ความสนใจ และมีความสนใจและความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ในพื้นที่

การคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่องนั้นคณะวิจัยได้ให้ความสำคัญไปที่ประเด็นความเสี่ยงด้านภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปัจจัยและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับผลกระทบและความสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล หรือระบบนิเวศป่าไม้ที่ยังไม่มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านภัยแล้งคณะวิจัยใช้ข้อมูลแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่กรมปองกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำการวิเคราะห์โดยการซ้อนทับแผนที่ของปัจจัยด้านปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี เขตชลประทานและแหล่งน้ำ พืชปกคลุมดิน สภาพการระบายน้ำของดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของลำน้ำในลุ่มน้ำย่อย สถิติพื้นที่เกิดภัยแล้งในอดีต พร้อมกับได้กำหนดค่าถ่วงน้ำหนัก และการจัดลำดับค่าคะแนน ได้ผลลัพธ์เป็นแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยในระดับต่างๆ 4 ระดับ คือ พื้นที่มีความเสี่ยงสูง (ค่าคะแนนมากกว่า 80 คะแนน) ปานกลาง (56-80 คะแนน) น้อย (30-55 คะแนน) และน้อยมาก (น้อยกว่า 30 คะแนน) โดยคณะวิจัยได้นำข้อมูลแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยของทั้งประเทศมาวิเคราะห์ขนาดของพื้นที่เสี่ยงภัยในแต่ละระดับ แยกเป็นรายจังหวัด จากนั้นประมวลสรุปขนาดพื้นที่เสี่ยงภัยที่มีระดับความเสี่ยงตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปแล้วเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด ผลที่ได้สามารถนำมาเปรียบเทียบกันในรูปของแผนภูมิกราฟและแผนที่ ผลการวิเคราะห์พบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุดรธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา และมหาสารคาม

การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมได้จากการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่แผนที่น้ำท่วมในช่วงระหว่างปี 2549-2554  ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มาประมวลเป็นสัดส่วนของพื้นที่น้ำท่วมต่อพื้นที่ทั้งหมดของแต่ละจังหวัดเป็นรายปี จากนั้นคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยสัดส่วนพื้นที่น้ำท่วมรายจังหวัดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผลจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมของแต่ละจังหวัด สามารถนำมาเปรียบเทียบกันในรูปของแผนภูมิกราฟ จากการวิเคราะห์พบว่า จังหวัดที่เกิดน้ำท่วมมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี นครปฐม นครนายก กรุงเทพมหานคร พิจิตร นนทบุรี และ สุพรรณบุรี

จากประเด็นผลกระทบด้านน้ำท่วมและภัยแล้งข้างต้น มีพื้นที่เสี่ยงสองกลุ่มที่ไม่ทับซ้อนกัน คือพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และพื้นที่ภาคอีสาน ทางคณะผู้วิจัยได้ให้ความสนใจในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องมาจากว่าในประเด็นน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางนั้น เป็นประเด็นระดับประเทศที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ และมีหลายโครงการที่ดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมากแล้วในปัจจุบัน ในขณะที่พื้นที่ในภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่เกษตร มีประชากรโดยรวมและประชากรด้านการเกษตรมากที่สุดของประเทศ มีระบบปลูกพืชที่ค่อนข้างหลากหลาย ส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย สภาพที่ดินเป็นดินทรายอุ้มน้ำได้น้อย พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่พึ่งพาอาศัยน้ำฝน ต้องพึ่งพาทรัพยากรการผลิตทางธรรมชาติอย่างมาก จาก 10 จังหวัดในภาคอีสานที่มีความเสี่ยงภัยแล้วสูงเป็นอันดับต้นๆ คณะวิจัยได้รวบรวมและศึกษาบริบทด้านต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงในอดีตที่ผ่านมา พร้อมทั้งวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริบทในอนาคต

ภาพโดยรวมของบริบทในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเกษตรกรรมมีการปลูกพืชที่หลากหลาย ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย พื้นที่ที่ปลูกมากที่สุดที่อุดรธานี ส่วนยางพารามีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจาก 0.75 ล้านไร่ในปี 2549 เป็น 1.4 ล้านไร่ ในปี 2552 ซึ่งมากที่สุดในภาคอีสานและบางส่วนได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า โดยจังหวัดที่ปลูกมากตามลำดับคือ หนองคาย เลย และอุดธานี ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนระบบปลูกพืช ที่มีขนาดฟาร์มใหญ่ขึ้น และหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดิน เกษตรบางส่วนถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม

ในภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเช่นเดียวกันกับเมืองใหญ่ๆในภาค ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี โดยส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการค้าผ่านชายแดนที่มีเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 16.0 ของทั้งภาคและมากที่สุดที่อุดรธานี ส่วนมูลค่าการค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 มีมากเป็นอันดับหนึ่งของทั้งภาคคิดเป็นร้อยละ 34.7 ของการค้าของภาค โดยเป็นการค้าผ่านด่านชายแดนที่จังหวัดหนองคายมากที่สุดแต่ศูนย์กลางการขนส่งและการค้าหลักจะอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี

ในด้านการท่องเที่ยวในปี 2549 กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 มีจำนวนนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้เป็นอันดับสองของภาครองจากอีสานตอนล่าง 1 และมีการขยายตัวอย่างมากจนมีรายได้เกือบเทียบเท่ากันในปี 2552 จากผลการขยายตัวด้านการค้า และการท่องเที่ยวผ่านแดน จังหวัดอุดรธานีถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ มีเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและอากาศที่สะดวก มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเดินทางมากที่สุดของภาค เป็นผลตอบสนองและส่งผลต่อเนื่องถึงการขยายตัวด้านเศรษฐกิจสาขาบริการ การค้า และอุตสาหกรรม

จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ข้างต้น มีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งจากภาคการเกษตรและจากประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการขยายตัวของชุมชนและพื้นที่ตัวเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งพบว่ากลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 มีสัดส่วนประชากรเมืองเพิ่มมากที่สุดของภาค คือจากร้อยละ 21.2 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 27.2 ในปี 2552 และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ก่อปัญหาขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานีที่เพิ่มจาก 145 ตันต่อวัน เป็นเกือบ 170 ตันต่อวัน เป็น 1 ใน 3 จังหวัดในภาคอีสานที่มีปริมาณขยะมูลฝอยมากที่สุด

สภาพการณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มจังหวัดนั้น ทรัพยากรดินเป็นส่วนสำคัญของการผลิตภาคเกษตร ดินในกลุ่มจังหวัดนี้เป็นดินทรายและดินตื้น ซึ่งมีมากเป็นอันดับหนึ่งของภาค พบที่อุดรธานีมากที่สุด ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีการอุ้มน้ำต่ำเกิดภาวะขาดแคลนน้ำของพืชได้ง่าย  และเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มในพื้นที่ลาดชัน นอกจากนี้ยังพบคราบเกลือบนผิวดิน มีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่กระจายมากขึ้น พบมากที่หนองคายและอุดรธานี ด้านทรัพยากรน้ำ ในกลุ่มจังหวัดนี้มีพื้นที่รับประโยชน์จากชลประทานน้อยที่สุดในภาค(ร้อยละ10.7) ถ้าไล่เรียงรายจังหวัดในภาคอีสานที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดได้แก่ อำนาจเจริญ (อีสานตอนล่าง 2) หนองบัวลำภู อุดรธานีและเลย

โดยสรุปพบว่าในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด อุดรธานี หนองคาย เลย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตรโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย และยางพารา ด้านการค้าผ่านชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุดรธานี ที่เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และการค้าผ่านชายแดน อีกทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันมีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้าขาย และการท่องเที่ยว อย่างโดดเด่น

ทางด้านแนวโน้มในอนาคตของสภาพภูมิอากาศ จากการใช้แบบจำลองภูมิอากาศในอนาคตบ่งชี้ว่าพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของอีสานจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนในรอบปียาวนานมากขึ้น แนวโน้มของระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีนี้จะยิ่งยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของปริมาณฝนรายปีนั้น พบว่าปริมาณฝนรายปีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยพื้นที่ส่วนใหญ่อาจจะมีฝนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10-15% ในช่วงกลางศตวรรษ โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบนของภาค โดยสรุปแล้วพบว่าในอนาคตอากาศจะร้อนมากขึ้น-ร้อนนานขึ้น ขณะเดียวกัน ฝนตกหนักมากขึ้น

เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์พัฒนาของจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 ได้ระบุว่า“จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการค้า เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประชาคมอาเซียน โดยการ การเพิ่มศักยภาพการค้าชายแดน - การยกระดับการค้า ประสิทธิภาพการผลิตทางเกษตร – การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ ฟื้นฟูระบบนิเวศ เร่งรัดบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม-ขาดแคลนน้ำ ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตของภาคส่วนต่างๆ จะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายตัวของชุมชนและประชากรในเมือง จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าจังหวัดอุดรธานีมีบริบทและพลวัติของภาคส่วนต่างๆ ค่อนข้างโดดเด่นรวมถึงแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงบริบทเหล่านี้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศค่อนข้างมาก คณะวิจัยจึงได้เลือกจังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่ศึกษานำร่อง

คณะวิจัยได้วิเคราะห์ภาพองค์รวมของสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของจังหวัดอุดรธานีพบว่าพื้นที่เกษตรอาจจะไม่ขยายเพิ่มขึ้นมากนักอันเนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด แต่ชนิดของพืชที่ปลูกจะมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก อันเนื่องมาจากกระแสของพืชเศรษฐกิจ (ยางพารา ข้าวโพด) และทิศทางการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การเกิดสภาพแห้งแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นในอนาคต ทำให้ความชื้นในอากาศลดลง จากสาเหตุของอัตราการคายน้ำจากพืช และการระเหยของน้ำหน้าผิวดินสูงเพิ่มมากขึ้น นำน้ำจากใต้ผิวดินขึ้นมาสู่ด้านบน จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม และความเข้มข้นของความเค็มเพิ่มมากขึ้น ภายใต้เปลี่ยนแปลงทางภาคเกษตรในอนาคต ภายใต้การขยายตัวในภาคเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม และกระแสของพืชเศรษฐกิจ ระบบเกษตรอาจปรับเปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ขนาดของฟาร์มใหญ่ขึ้น เกษตรกรรายย่อยมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดิน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่พื้นที่ชุมชน

จากแนวโน้มทิศทางของการส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ และการคมนาคม รวมทั้ง โครงการพัฒนาระบบ และเส้นทางคมนาคมต่างๆ จะส่งผลพื้นที่เพาะปลูกเดิมลดลง การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชลประทานไม่ตรงต้องตามวัตถุประสงค์ด้านการเกษตร มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดน้ำเสียและการเสื่อมคุณภาพของแหล่งน้ำ ทำให้เกิดปัญหาในการแบ่งปันจัดสรรน้ำให้กับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่มีแนวโน้มของความ แห้งแล้งเพิ่มมากขึ้น น้ำในแหล่งเก็บน้ำไม่เพียงต่อความต้องการของชุมชนเมือง นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม อาจปิดกั้นหรือเบี่ยงเบนการไหลของน้ำตามธรรม ชาติ หรือกลายเป็นทำนบกั้นน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ในกรณีที่มีปริมาณฝนตกมากในช่วงเวลาอันสั้น

แนวโน้มประชากรในชุมชนเมืองของจังหวัดอุดรธานีจะเพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคตอันเป็นผลจากการขยายตัวทางภาคเศรษฐกิจการค้าในระดับภาคและการค้าระหว่างประเทศ ชักนำให้เกิดการขยายตัวของภาคส่วนอื่นๆ ในตัวเมืองอุดรธานี เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากพื้นที่ใกล้เคียงและในประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ส่วนในหน้าหน้าฝนที่คาดว่าฝนจะตกหนักมากขึ้น จากการที่อยู่อาศัยขยายตัว และมีสิ่งปลูกสร้างทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้กีดขวางทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ และการไหลและระบายของน้ำออกจากตัวเมือง เกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานขึ้น เมื่อผนวกกับปริมาณขยะมูลฝอยที่จะมีมากขึ้นตามจำนวนประชากร อาจส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย การปนเปื้อนในแหล่งกักเก็บน้ำ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอนามัยตามมา

จากสรุปสถานการณ์ข้างต้น ประเด็นความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด/กลุ่มจังหวัดดังกล่าว ที่มี่ความเกี่ยวข้องปัจจัยด้านภูมิอากาศ (Climate factor) และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม (non-climate factor) คณะวิจัยได้วิเคราะห์ภาพองค์รวมและสังเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงและประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้อง นำเสนอแก่ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งผู้รู้และนักวิชาการในพื้นที่เพื่อระดมความคิดเห็นและพัฒนาเป็นกรอบโจทย์วิจัยแยกเป็นประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

แผนการศึกษาที่ 1 : จัดทำวิสัยทัศน์ (Vision) : ภาพฉายอนาคตสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดอุดรธานี

การพัฒนาภาพฉายอนาคต (Scenarios) ของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพการณ์และบริบทของภาคส่วนต่างๆ ที่อาจจะเป็นไปในอนาคต ภายใต้ทิศทางแผนการพัฒนาในยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ได้จากการแบบจำลอง (Climate model) ซึ่งก่อนที่จะพัฒนาภาพฉายอนาคตควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาแนวทางการสื่อสารที่เหมาะสมเกี่ยวกับแนวคิดด้านผลกระทบ ความเปราะบาง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเผยแพร่ในเวทีสารธารณะให้แก่ตัวแทนภาคส่วน และชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้การพัฒนาภาพอนาคตอาจใช้การระดมความคิดเห็นจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ร่วมกับกระบวนการ Scenario development โดยภาพอนาคตที่พัฒนาขึ้นนี้จะใช้เป็นกรอบร่วมกัน (Common scenarios) สำหรับใช้ในการศึกษาในเชิงลึกที่ระบุในโจทย์วิจัยในแผนการศึกษาอื่นๆ ต่อไป

แผนการศึกษาที่ 2 : ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและแนวทางการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง

ลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่และสำคัญมากที่สุดของจังหวัดอุดรธานี มีอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและน้ำดิบเพื่อการผลิตประปารองรับชุมชนเมืองและเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตร การขยายตัวของชุมชนเมืองและภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น กอปรกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อปริมาณและรูปแบบการกระจายตัวของฝนและปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสมดุลน้ำและความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคต การวางแผนหรือทิศทางการพัฒนาของภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัด ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ควรต้องมีความสอดคล้องกันทั้งทางด้านความต้องการน้ำ ปริมาณท่า และการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการจัดสรรน้ำที่มีอยู่ให้ทั่วถึงและมีสมดุลในอนาคตระยะยาว

2.1 การประเมินความต้องการน้ำในระยะยาวของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง และความต้องการน้ำของผู้ใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ จากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง

การศึกษานี้เพื่อต้องการทราบปริมาณน้ำที่ต้องการใช้น้ำจากพื้นที่สองส่วนหลักคือ ภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ตอนบนเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และอีกส่วนหนึ่งคือภาคส่วนที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บนำห้วยหลวง ซึ่งมีภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคครัวเรือน และภาคเศรษฐกิจต่างๆ (ท่องเที่ยว บริการ อุตสาหกรรม) ความต้องการน้ำในภาคเกษตรขึ้นอยู่กับความต้องการของพืชที่ปลูก การประมง และเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่

2.2 การศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำท่าและสมดุลน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง และประเมินความเสี่ยงของภาคส่วนต่างๆ และพื้นที่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

การศึกษานี้เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การขยายตัวของชุมชนและภาคส่วนเศรษฐกิจต่างๆ ในพื้นที่ตอนบนของอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง รวมทั้งจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อประมาณการปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และประเมินความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของภาคส่วนต่างๆ

2.3 การประเมินความเหมาะสมของแนวทางการจัดการปัญหาภัยแล้งในปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงน้ำในอนาคต

การศึกษานี้เพื่อประเมินความเหมาะสมของแนวทางการจัดการปัญหาภัยแล้งในปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงบริบทด้านเศรษฐกิจสังคมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต โดยพิจารณาเน้นความเป็นไปได้ คงทน และยั่งยืน (robustness) ของแนวทางหรือแผนการจัดการที่มีอยู่แล้วกับรูปแบบของความเสี่ยงของภาคส่วนต่อการใช้น้ำที่อาจเปลี่ยนไป โดยทำการประเมินศักยภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ช่องว่าง จุดอ่อน ข้อจำกัดของแผน/ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดและ/หรือภาคส่วน รวมถึงข้อกฎหมาย/นโยบายของภาครัฐที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวภายใต้ภาพฉายอนาคตของรูปแบบการใช้น้ำต่างๆ กัน

2.4 การวิเคราะห์ทางเลือกในการจัดหา จัดสรรน้ำที่เหมาะสมภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงน้ำในอนาคต

การศึกษานี้เพื่อจัดทำข้อเสนอทางเลือกในการจัดหาและจัดสรรน้ำที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมโดยเฉพาะรูปแบบการใช้น้ำที่เปลี่ยนไป (demand) และภูมิอากาศในอนาคตที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุน (supply) ซึ่งจะทำให้รูปแบบความเสี่ยงของการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนไป ทั้งนี้ แนวทางหรือทางเลือกดังกล่าวเพื่อสนองความต้องการน้ำของภาคส่วนและพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มน้ำห้วยหลวงโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ทางเลือกที่ได้อาจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ การพัฒนาระบบนิเวศต้นน้ำ การปรับเปลี่ยนรูปแบบและ/หรือขอบเขตของการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) มาตรการต่างๆ ที่นำไปสู่การใช้น้ำในภาคประชาชนและภาคเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หรือบูรณาการแนวทางต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน

แผนการศึกษาที่ 3 : ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อภาคส่วนการเกษตรและแนวทางการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดอุดรธานีประมาณร้อยละ 67 ถูกใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันภาคส่วนเกษตรในจังหวัดอุดรธานีเผชิญความเสี่ยงกับการขาดแคลนทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาสภาพดินเค็มประกอบกับดินขาดความอุดมสมบูรณ์ในบางพื้นที่ ในอนาคตภาคการเกษตรจะมีการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น จะต้องใช้น้ำจำนวนมากเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรและรูปแบบการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรนี้ จะส่งผลให้การใช้น้ำในแต่ละฤดูกาลเปลี่ยนไป และเมื่อพิจารณาประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งมีแนวโน้มที่ภาคอีสานตอนบนจะมีฤดูแล้งที่ร้อนขึ้นและยาวนานมากขึ้น ความเสี่ยงของภาคส่วนเกษตรจากการขาดแคลนน้ำอาจจะมีแนวโน้มเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต

3.1 การประเมินพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักในอนาคตของจังหวัดอุดรธานี และ/ หรือ ลุ่มน้ำห้วยหลวง

การศึกษานี้เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี ภายใต้ภาพฉายอนาคตของทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาด้านการเกษตรรูปแบบต่างๆ  แล้วใช้การประเมินความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land suitability assessment) ร่วมกับเทคนิคทางด้าน spatial analysis ที่สามารถระบุตำแหน่งและพื้นที่ที่เหมาะสมของพืชเศรษฐกิจต่างๆ ตามความสำคัญ/ทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อสร้างแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินของภาพฉายอนาคตในรูปแบบต่างๆ

3.2. การประเมินความต้องการน้ำรายฤดูกาลของภาคการเกษตร

การศึกษานี้เพื่อประเมินความต้องการน้ำของภาคส่วนการเกษตรรวมทั้งวิธีการใช้และจัดการน้ำในแปลง/ในฟาร์ม ที่ขึ้นอยู่กับประเภทของพืชที่เพาะปลูกและการใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตรด้านอื่นๆ ในพื้นที่ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปภายใต้ภาพฉายอนาคตของรูปแบบการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักต่างๆ (โจทย์วิจัยหัวข้อที่ 1 ข้างต้น) โดยสามารถนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ประกอบในโจทย์วิจัยหัวข้อที่ 2 ของแผนการศึกษาที่ 2 ข้างต้น เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและแนวทางการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

3.3 การประเมินผลกระทบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตรและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการแพร่กระจายดินเค็มในอนาคต

การศึกษานี้เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์พื้นที่แพร่กระจายดินเค็ม โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินทางเกษตร การใช้และการจัดการน้ำในแปลง/ในฟาร์ม สภาพปัจจัยทางภูมิอากาศ (เช่น ปริมาณฝน ความชื้นในอากาศ ลม อุณหภูมิ) สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิสัณฐานทางธรณีวิทยา (Geomorphology) แหล่งน้ำและปริมาณน้ำใต้ดิน และตำแหน่งบริเวณของแหล่งกักเก็บน้ำบนผิวดิน โดยอาศัยข้อมูลภูมิสารสนเทศร่วมกับการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial analysis) และองค์ความรู้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง (Expert opinion) ผลลัพธ์ที่ได้คือแผนที่การแพร่กระจายดินเค็มในปัจจุบัน และในอนาคตภายใต้ภาพฉายอนาคตรูปแบบการใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

3.4 การประเมินผลกระทบและความเสี่ยงของผลิตภาพทางเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต

การศึกษานี้เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตต่อผลผลิตของระบบการเพาะปลูกพืชภายใต้ภาพฉายอนาคตรูปแบบต่างๆ โดยพิจารณาจากปริมาณ และความผันผวนของผลผลิต และประเมินความเสี่ยงของพืชเศรษฐกิจหลักชนิดต่างๆ ในพื้นที่ศึกษา ซึ่งจะประเมินจากผลการศึกษาที่ได้รับจากโจทย์วิจัยข้อที่ 1 และข้อที่ 2 โดยอาจใช้แบบจำลองการผลิตพืช (Crop model) ร่วมกับข้อมูลปัจจัยและสภาพแวดล้อมการผลิตที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อประเมินผลผลิตพืชภายใต้รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และภายใต้ภาพฉายอนาคตที่ควบรวมการจัดรูปแบบความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการแพร่กระจายดินเค็ม เพื่อวิเคราะห์ความผันผวนของผลผลิตพืชชนิดต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงของพืชเศรษฐกิจภายใต้ภาพอนาคตรูปแบบต่างๆ ในมิติของผลผลิต/รายได้ระดับครัวเรือน และผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

3.5 การประเมินความเหมาะสมแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของภาคส่วนเกษตรใต้สถานการณ์อนาคต

การศึกษานี้เพื่อทบทวนแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงของภาคส่วนเกษตร ที่มีอยู่ทั้งในระดับจังหวัด และนโยบายในระดับประเทศ โดยพิจารณาเน้นความเป็นไปได้ คงทน และยั่งยืน (robustness) ของแผนงานต่างๆ เหล่านั้น และประเมินความเหมาะสม ช่องว่าง จุดอ่อน ข้อจำกัดของแนวทางเหล่านั้นในปัจจุบัน และภายใต้รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและปัจจัยแวดล้อมทางเกษตรภายใต้ภาพฉายอนาคตรูปแบบการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้อาจควบรวมข้อเสนอแนะแผนการบริหาร จัดการน้ำที่ได้จากการแผนศึกษาหัวข้อที่ 2 มาร่วมในศึกษาวิเคราะห์ด้วย

3.6 ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนภูมิอากาศ

เป็นการประเมินแนวทางการปรับตัวโดยกำหนดยุทธศาสตร์การเกษตรในพื้นที่ศึกษาที่สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน  (robust) ต่อสถานการณ์ในอนาคต และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต ทั้งนี้การศึกษาจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแนวทางเหล่านั้นทั้งในด้านเทคนิค และด้านเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนเสนอเงื่อนไขที่เอื้อให้การดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นได้ และปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั้นประสบความสำเร็จ

แผนการศึกษาที่ 4 : การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อชุมชนเมืองและแนวทางการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เขตเทศบาลนครอุดรธานีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนักในเขตเมืองและชุมชนพื้นที่รอบเมืองอุดรธานีในเขตที่ลุ่ม และสถานการณ์ระดับน้ำและปริมาณน้ำท่าที่เชื่อมโยงกับลุ่มน้ำห้วยหลวง ดังเช่นกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2543, 2544, 2552 และ 2554 ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยหนาแน่น จึงเกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง การเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันซึ่งคาดว่าจะดำเนินสืบเนื่องต่อไปในอนาคตตามเป้าวิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัดยุทธศาสตร์อีสานตอนบน 1 ที่มุ่งจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการค้า เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยวของอนุภาคลุ่มน้ำโขงและประชาคมอาเซียน จะทำให้การเติบโตของเมืองอุดรธานีเป็นไปอย่างรวดเร็วตามกระแสการพัฒนาที่เข้ามา ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชน ถนนและสิ่งปลูกสร้างมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติลดลง เมื่อเวลาฝนตกหนักทำให้เกิดปัญหากับการระบายน้ำและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามมาในที่สุด รวมทั้งชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่รอบเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเช่นเดียวกัน และต้องเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ระบายออกจากเมืองด้วย การเปลี่ยนแปลงในทิศทางดังกล่าวอาจทำให้ตัวเมืองอุดรธานีและชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่รอบเมืองมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมสูงขึ้น ทั้งนี้จากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตพบว่าภาคอีสานตอนบนมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นอีก การวางยุทธศาสตร์ด้านผังเมืองโดยกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตจะช่วยลดการเปิดรับต่อภาวะเสี่ยงน้ำท่วมของชุมชนลงได้ และการวางแผนด้านระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการระบายน้ำที่คำนึงถึงภาพรวมของทั้งพื้นที่เมืองและพื้นที่โดยรอบก็จะช่วยลดความเสี่ยงของพื้นที่เมืองอุดรธานีและชุมชนโดยรอบที่จะตกอยู่ภายใต้ภาวะน้ำท่วมลงได้

4.1 การประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมของชุมชนเมืองอุดรธานี

การศึกษานี้เพื่อประเมินระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนเมือง โดยส่วนหนึ่งขึ้นกับปริมาณน้ำท่าที่มีอยู่ในพื้นที่ และปริมาณน้ำท่าที่ได้รับจากพื้นที่รอบข้าง ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณฝน รูปแบบการกระจายของฝนในลุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เหล่านั้น ปัจจัยเสี่ยงส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการไหลผ่านของน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพสภาพผังเมือง สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างเส้นทางคมนาคม และสภาพที่อยู่อาศัย โดยจัดทำแผนที่น้ำท่วม (Flood map) ของพื้นที่ชุมชนเมือง เพื่อระบุถึงพื้นที่และระดับความเสี่ยง รวมถึงการประเมินปริมาณน้ำท่าและน้ำผิวดินสะสมจากพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงและประเมินความเร็วและระยะเวลาการเคลื่อนตัวของมวลน้ำถึงตัวเมือง รวมถึงระดับน้ำท่วมขังภายใต้ปริมาณและความรุนแรงของฝนที่เปลี่ยนไปในอนาคต และผลกระทบที่ตามมา

4.2 การทบทวนแนวทางและประสิทธิภาพการจัดการน้ำท่วมชุมชนเมืองของจังหวัดอุดรธานี

ทบทวนแนวทางการจัดการน้ำท่วมรวมถึงโครงสร้างสำหรับจัดการปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน และประเมินประสิทธิภาพของแนวทางและโครงสร้างเหล่านั้น โดยพิจารณาถึงความคงทน และยั่งยืนของแนวทางหรือแผนการจัดการเหล่านั้นภายใต้ภาพฉายอนาคตของการเติบโตเมือง (การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แผนพัฒนาเมืองฯ)

4.3 ข้อเสนอแนะการจัดวางผังเมืองและแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของเมืองอุดรธานี

จัดทำข้อเสนอแนะด้านการใช้ที่ดินและแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของพื้นที่เมืองและพื้นที่โดยรอบที่มีความสอดคล้องกับบริบทในอนาคต รวมถึงแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐานเพื่อให้ชุมชนเมืองมีความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัว (resilience) หรือลดความเสี่ยงต่อปัญหาหรือสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคตได้

ดาวน์โหลด: รายงานฉบับสมบูรณ์