You are here: Home / งานวิจัย / โครงการวิจัย / การออกแบบและพัฒนาแบบจำลองเพื่อประเมินความเสี่ยงของเมืองในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: ระยะที่ 1 การพัฒนาแบบจำลองต้นแบบ

การออกแบบและพัฒนาแบบจำลองเพื่อประเมินความเสี่ยงของเมืองในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: ระยะที่ 1 การพัฒนาแบบจำลองต้นแบบ

Design and development of risk assessment model for cities in Thailand and decision support system for climate change adaptation: Phase 1 – prototype development and proof of concept

 

คณะผู้วิจัย

 

ชื่อหน่วยงาน
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.จุฑาทิพย์ เฉลิมผล
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและส่งเสริมเผยแพร่การเกษตรคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาจารย์ชยา วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นางปองทิพย์ เที่ยงบูรณธรรม หน่วยวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ระยะเวลาดำเนินการ

6  เดือน [ตุลาคม พ.ศ. 2555 -เมษายน พ.ศ. 2556]

 

รายละเอียดโดยย่อ

 

กรอบแนวคิด

แบบจำลองนี้เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System) เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การออกแบบกรอบแนวทางและกระบวนการในการพัฒนาแบบจำลองที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ดังรูปทึ่ 1) โดยที่ แบบจำลองนี้จะบ่งชี้ถึงระดับความล่อแหลมเปราะบางหรือภาวะเสี่ยงที่เมืองจะตกอยู่ในความเดือดร้อนจากผลของสภาพอากาศรุนแรง และ/หรือ สาเหตุหรือจุดอ่อนของเมืองที่ทำให้เมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลมนั้นๆ แบบจำลองนี้จะได้เป็นเครื่องมือในการทดสอบผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสภาวะอากาศรุนแรงในอนาคต (Magnitude & Frequency) ในเงื่อนไขต่างๆ (Multiple Scenarios) ต่อความล่อแหลมของเมืองที่จะตกอยู่ในภาวะเดือดร้อน เพื่อที่จะได้สนับสนุนการตัดสินใจในอนาคตโดยช่วยประเมินถึง Robustness ของแนวทางการพัฒนาเมืองในรูปแบบต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 3 กรอบใหญ่ ได้แก่

 

Dr_Poon_Project8-FrmWk

รูปที่ 1: กรอบแนวคิดเบื้องต้นของแบบจำลองระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ของการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับเมืองในประเทศไทย

1)   การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน (Internal Factor Analysis) เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ และ โครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยภายนอก (External Factor Analysis) เช่น สถานการณ์ที่เป็นไปได้ของผลกระทบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และรวมถึง แนวโน้มผลกระทบของปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ต่างๆ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะถูกสังเคราะห์ตามบริบทของประเทศไทยเพื่อนำไปใช้ต่อในขั้นตอนต่อไป

2)   แบบจำลองเพื่อประเมินเมือง (City/Urban Evaluation Model) แบบจำลองนี้อยู่บนพื้นฐานตามนิยามหรือ ปรัชญาของความเปราะบาง (Vulnerability) และ ความอดทน (Resilience) ของเมืองซึ่งใช้กรอบแนวคิดด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) ทฤษฎีการตัดสินใจหลายเงื่อนไข (Multi Criteria Decision Making) และ การวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Analysis) ผลของแบบจำลองนี้จะแสดงให้เห็น ดัชนีของ ความเปราะบาง (Vulnerability) และ ความเสี่ยง (Risk) ของเมืองได้ ผลของขั้นตอนนี้จะบ่งชี้ถึงระดับความล่อแหลมเปราะบางหรือภาวะเสี่ยงที่เมืองจะตกอยู่ในความเดือดร้อนจากผลของสภาพอากาศรุนแรง และ/หรือ สาเหตุหรือจุดอ่อนของเมืองที่ทำให้เมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลมนั้นๆ

3)   กรอบกิจกรรมสำหรับการปรับตัว (Adaptation Recommendation) ของแต่ละเมืองถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อแต่ละเมืองสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป โดยเฉพาะด้าน การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และ ทรัพยากร

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อรวบรวมและทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแบบจำลองที่มีอยู่ในปัจจุบัน

2.  การพัฒนาแบบจำลองต้นแบบเพื่อใช้ทดลองประเมินขีดความสามารถของเมืองในการต้านรับผลจากสภาวะอากาศรุนแรง และบ่งชี้ถึงประเด็นสำคัญที่ทำให้เมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลมเพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนพัฒนาเมืองให้มีความล่อแหลมน้อยลง

3.  เพื่อเป็นการทดสอบแบบจำลอง และประเมินความพร้อมของข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้งานแบบจำลอง ประเมินแบบจำลองและประเมินสถานะความพร้อมของข้อมูลที่มีอยู่และระบุชุดข้อมูลที่ต้องศึกษารวบรวมเพิ่มเติม ที่จำเป็นต้องใช้ในการสร้าง พัฒนาและปรับปรุง แบบจำลองต่อไปแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงาน

 

ขั้นตอนการศึกษาและวิธีดำเนินการวิจัย

โครงการนี้เป็นส่วนแรกของกระบวนการใหญ่ซึ่งแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ช่วงคือ

1) การพัฒนากรอบความคิดแบบจำลอง และเครื่องมือ

2) การทดสอบแบบจำลอง และเครื่องมือ กับเมืองตัวอย่าง

3) ขยายผลเพื่อพัฒนาข้อมูลเมืองที่สำคัญในระดับประเทศ

โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการส่วนแรกนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน (ดังรูปทึ่ 2) คือ

ขั้นตอนที่ 1 คือ รวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบและการวางแผนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเมินความเสี่ยงเชิงกายภาพ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ-สังคมจากข้อมูลเชิงพื้นที่ข้อมูลจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ

ขั้นตอนที่ 2 คือ การในการพัฒนาแบบจำลองเบื้องต้นที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ที่อยู่บนฐานของกรอบแนวคิดเบื้องต้น

โดยแบบจำลองนี้จะบ่งชี้ถึงระดับความล่อแหลมเปราะบางหรือภาวะเสี่ยงที่เมืองจะตกอยู่ในความเดือดร้อนจากผลของสภาพอากาศรุนแรง และ/หรือ สาเหตุหรือจุดอ่อนของเมืองที่ทำให้เมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลมนั้นๆ

ขั้นตอนที่ 3 คือ การทดสอบแนวคิดของแบบจำลอง (proof of concept) และประเมินความพร้อมของข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้งานแบบจำลอง โดยใช้ข้อมูลและเงื่อนไขในการทดสอบแบบจำลอง และข้อมูลนำเข้าบางส่วนก็อาจเป็นข้อมูลที่สมมุติขึ้นเพื่อประกอบการ การทดสอบแนวคิดของแบบจำลอง

Dr_Poon_Project8-Procedure

รูปที่ 2: ขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการในส่วนแรก (Phase I)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) ต้นแบบแบบจำลองในการประเมินขีดความสามารถของเมืองในการต้านรับผลจากสภาวะอากาศรุนแรงที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป

2) ฐานข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแบบจำลองที่มีอยู่ในปัจจุบัน

3) กรอบแนวทางและกระบวนการในการพัฒนาแบบจำลองที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อพัฒนา ทดสอบและขยายผลต่อ

4) สถานะความพร้อมของข้อมูลที่มีอยู่และรายการชุดข้อมูลที่ต้องศึกษารวบรวมเพิ่มเติม

5) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในการเตรียมการและเตรียมพร้อมข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงในการตัดสินใจดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

สรุปผลการศึกษา

 

 

 

ดาวน์โหลด: รายงานฉบับสมบูรณ์