You are here: Home / งานวิจัย / โครงการวิจัย / กลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาเปรียบเทียบเครือข่ายลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และเครือข่ายลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง

กลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาเปรียบเทียบเครือข่ายลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และเครือข่ายลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง

Community-based Adaptation to Climate Change, Traditional Ecological Knowledge,

Institutional Arrangements

คณะผู้วิจัย

ชื่อหน่วยงาน
ดร. กุลวดี แก่นสันติสุขมงคล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวอรวรรณ  บุญทัน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวดาลิน   พูนบำเพ็ญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นายจิรายุ         รัตนเดชากร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวชไมพร  ไชยมงคล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวณัชชา  ศรหิรัญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นายประดิพล    เครือแก้ว คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ระยะเวลาดำเนินการ

10 เดือน [กย 2554 - กค 2555]

 

รายละเอียดโดยย่อ

โครงการวิจัยนี้เสนอการศึกษากลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ทั้งภาวะความแปรปรวนของสภาพอากาศ-climate variation- และภาวะวิกฤต-extreme-) มีระดับการวิเคราะห์ศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขององค์กรทางสังคมในระดับชุมชน จนถึงเครือข่ายทางสังคม โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่ากลไกหลักในการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และเครือข่ายทางสังคม โดยมีภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทางเลือกในการปรับตัว งานศึกษานี้จึงเน้นชุมชนที่มีความเข้มแข็งของกลไกดังกล่าว ในขณะเดียวกับที่เป็นชุมชนที่มีความเปราะบางในเชิงนิเวศสูง คือ ชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนต่างก็ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หากแต่การเปิดรับผลกระทบระดับพื้นที่ และความอ่อนไหวของระบบเศรษฐกิจสังคมของวิถีประมงพื้นบ้านแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อถอดบทเรียนการทำงานของกลไกในการขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การออกแบบงานวิจัยจึงเน้นการศึกษาเปรียบเทียบ เครือข่ายชุมชนเข้มแข็งจาก 2 ลุ่มน้ำที่พึ่งพาความหลากหลายของทรัพยากรประมงภายใต้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการอภิปรายกลุ่มประมงพื้นบ้าน และกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ผลลัพธ์ในรูปแบบของตัวชี้วัดความเปราะบางในระดับชุมชนและเครือข่าย ผลการประเมินสภาวะความเปราะบางจากอดีต-ปัจจุบัน และปัจจุบัน-อนาคต กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนผ่านองค์กรเข้มแข็งและเครือข่ายทางสังคม ใน 5 องค์ประกอบคือ

(1) การสร้างความตระหนักในความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

(2) การปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการความเสี่ยง

(3) การสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง

(4) การระดมทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อจัดการความเสี่ยง และ

(5) การจัดสถาบันในการจัดการความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ซึ่งเน้นให้เห็นปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ และปัจจัยที่ทำให้บรรลุผลในการจัดการ

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาสภาวะความเปราะบางของชุมชนประมงที่เป็นชุมชนเข้มแข็งในระดับชุมชนและเครือข่าย

2. เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

3. เพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม

ขั้นตอนการศึกษาและวิธีดำเนินการวิจัย

กรอบแนวคิด

การทำความเข้าใจประเด็นของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องเข้าใจเรื่อง ความเปราะบาง (Vulnerability) ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ การเปิดรับผลกระทบ (Exposure) ความไวต่อผลกระทบ (Sensitivity) และ ขีดความสามารถในการปรับตัว (Adaptive capacity) ดังภาพต่อไปนี้

Dr_Kulvadee_Project2-FrmWk_(2)

กรอบแนวคิดในการประเมินความเปราะบางของระบบนิเวศและระบบสังคม

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

การศึกษาส่วนที่ 1 การศึกษาความเปราะบางของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การศึกษาส่วนนี้มุ่งเน้นศึกษาภาวะเปราะบางทางสังคมในการรับมือต่อภาวะแปรปรวนของสภาพอากาศ (Climate variability) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และต่อข้อสมมติฐานของสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศใช้ข้อมูลแนวโน้มระดับประเทศที่ศึกษาโดย
ศุภกร ชินวรรโณ (2550) อำนาจ ชิดไธสง (2553) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2554) เครือข่ายลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรังประกอบด้วยกลุ่มประมงพื้นบ้านทุ่งตาเซะ (สมาชิกรวม 30 ครัวเรือน) และกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านแหลม (สมาชิกรวม 120 ครัวเรือน) ส่วนเครือข่ายลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง ประกอบด้วย กลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลเนินฆ้อ (สมาชิกรวม 120 ครัวเรือน) กลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลปากน้ำประแส (สมาชิกรวม 200 ครัวเรือน) และกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลคลองปูน (สมาชิกรวม 22 ครัวเรือน)

1.1 การสร้างตัวชี้วัดความเปราะบางระดับชุมชนและเครือข่ายในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ มี 3 ขั้นตอนคือ

(1) ทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยเรื่องตัวชี้วัดความเปราะบางของชุมชนประมง และรวบรวมตัวชี้วัดใน 3 องค์ประกอบของความเปราะบาง รวมทั้งข้อมูลทุติยภูมิทางด้านการประมงอุตุนิยมวิทยา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่

(2) อภิปรายกลุ่มตามประเภทหลักของประมงพื้นบ้าน เพื่อเข้าใจสภาวะความเสี่ยงที่แตกต่างกันของแต่ละประเภทของประมงพื้นบ้าน นำไปสู่ความเข้าใจในองค์ประกอบทั้ง 3 ของความเปราะบาง (การเปิดรับผลกระทบ ความอ่อนไหว และศักยภาพในการรับมือ) และตัวชี้วัดในแต่ละองค์ประกอบ

(3) สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและปราชญ์ชุมชน เพื่อให้ค่าน้ำหนักตัวชี้วัดความเปราะบางระดับชุมชน วิเคราะห์ตามเทคนิคการวิเคราะห์แบบหลายเกณฑ์ (Multi-criteria Analysis)

1.2 การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและสภาวะความเปราะบางของชุมชนใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกครัวเรือนตามประเภทหลักของประมงพื้นบ้าน ในประเด็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การเข้าถึงและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในกิจกรรมการผลิตและการบริโภค สถานภาพทางเศรษฐกิจ การพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ
การกระจายและความหลากหลายของรายได้ องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ และภูมิอากาศ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพลม ฝน และทะเล ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและประชากร การสังเกตและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเจตคติต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งนี้รูปแบบการปรับตัวที่ศึกษามีขอบเขตอยู่ที่การปรับตัวในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในที่นี้คือการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งการทำประมงพื้นบ้านมีความหลากหลายในเชิงระบบนิเวศย่อย องค์ความรู้และเครื่องมือในการทำประมง และมีการจัดการแบบยืดหยุ่นปรับตัว (Adaptive management) ในการทำประมงตามฤดูกาลและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปรับเปลี่ยนชนิดของระบบนิเวศย่อยและทรัพยากรประมงที่พึ่งพา ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจภาวะเปราะบางของประเภท/รูปแบบที่แตกต่างกันของการทำประมงพื้นบ้านรายครัวเรือนเพื่อเข้าใจภาพความเปราะบางที่หลากหลายในระดับชุมชนประมงพื้นบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้องค์กรชุมชนและเครือข่ายประมงพื้นบ้านมีศักยภาพในการจัดการแบบผสมผสานประเภทที่แตกต่างกันของการทำประมงพื้นบ้าน และเป็นการปรับตัวในชีวิตประจำวัน

การศึกษาส่วนที่ 2 วิเคราะห์กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศมีองค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบคือ (1) การสร้างความตระหนักในความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (2) การปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการความเสี่ยง (3) การสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง (4) การระดมทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อจัดการ
ความเสี่ยง และ(5) การจัดสถาบันในการจัดการความเสี่ยง

2.1 การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพในองค์ประกอบทั้ง 5 เพื่อหาช่องว่างของขีดความสามารถของชุมชนที่ทำให้ชุมชนตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย

(1) สัมภาษณ์เชิงลึกครัวเรือนตามประเภทหลักของประมงพื้นบ้านในประเด็นความตระหนักในความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ และเจตคติต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ
(2) สัมภาษณ์เชิงลึกในประเด็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการปรับตัวในวิถีประมงพื้นบ้าน องค์ความรู้ทั้งในเชิงการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ความรู้เชิงเทคนิค และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในการรับมือกับผลที่ได้รับ
(3) อภิปรายกลุ่มในแต่ละประเภทของการประมงพื้นบ้านในประเด็นการประยุกต์องค์ความรู้ในการจัดการความเสี่ยงและ การสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง
(4) สัมภาษณ์เชิงลึกประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – การระดมทรัพยากรที่มีอยู่ และการจัดสถาบัน
(5) อภิปรายกลุ่มตัวแทนชุมชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้นำชุมชน ผู้นำเครือข่าย อบต. ตัวแทนหัวหน้าครัวเรือนตามประเภทหลักของประมงพื้นบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่

ส่วนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่นหน่วยงานด้านการประมง ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการวิจัยในพื้นที่ ในประเด็นการรับมือกับการ
เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (การระดมทรัพยากรที่มีอยู่ และการจัดสถาบัน) ทั้งในระดับชุมชน และระดับการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนในเครือข่าย และชุมชนกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆที่มีทั้งด้านกฎระเบียบชุมชน ข้อกฎหมาย การหนุนเสริมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง2.2 การวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการอภิปรายกลุ่มช่วยให้เห็นกลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ นอกจากการวิเคราะห์เนื้อหาความเชื่อมโยงขององค์ความรู้เบื้องหลังการดำเนินกิจกรรมประมงพื้นบ้านแล้ว ยังวิเคราะห์กระบวนการจัดการความรู้ตามปัจจัยสำคัญ 4 ปัจจัยหลักที่ Folke et al. (2003) เสนอว่าเป็นปัจจัยที่สร้างความยืดหยุ่นทางสังคม ซึ่งประกอบด้วย

(1) การเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน

(2) การธำรงรักษาความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ

(3) การประสานความรู้ประเภทต่างๆเพื่อการเรียนรู้ (การประสานองค์ความรู้เดิม ซึ่งรวมความถึงองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และกระบวนการในการจัดการความรู้ที่เป็นอยู่ กับความรู้ใหม่ทั้งทางด้านเทคนิคประมง เทคโนโลยีในการจับสัตว์น้ำ ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ และทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริมหรืออาชีพใหม่) และ

(4) การสร้างโอกาสในการจัดองค์กร/สถาบันและเชื่อมประสานองค์กร/สถาบันในระดับต่างๆ ในการนำมาซึ่งการตั้งกฎเกณฑ์กติกาประมงพื้นบ้าน ศูนย์พยากรณ์อากาศ ศูนย์เตือนภัย รวมถึงความช่วยเหลือจากภายนอกในรูปแบบต่างๆ


การวิเคราะห์เครือข่ายทั้ง 2 เครือข่ายในประเด็น ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ในการสร้างความยืดหยุ่นของสังคมเพื่อการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เเน้นแนวทางสู่ความสำเร็จในการจัดสถาบันในการจัดการระบบนิเวศในลักษณะทรัพยากรร่วมอย่างมีความยืดหยุ่นปรับตัวตามองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ

(1) การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในพลวัตของทรัพยากรและระบบนิเวศ

(2) การผนวกองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาเข้าสู่การปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรแบบยืดหยุ่น ปรับตัว (Adaptive management)

(3) การสนับสนุนสถาบันที่มีความยืดหยุ่นและระบบการปกครองที่มีหลายระดับ และ

(4) การจัดการกับตัวขับเคลื่อนจากภายนอกรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆและภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากภายนอก เช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกระบวนการวิเคราะห์เป็นการผสมผสานข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมในการจัดอภิปรายกลุ่มตัวแทนชุมชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นประเด็นการสร้างความยืดหยุ่นของสังคมเพื่อการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากอดีตถึงปัจจุบันและมองสู่อนาคต ว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศมีพัฒนาการอย่างไร มีทางเลือกอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ช่วยให้สังคมมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาอย่างไร มีประสิทธิภาพเพียงใด และจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไร ทางเลือกด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นจะปรับเปลี่ยนอย่างไรในอนาคต กลไกด้านความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคมจะมีบทบาทอย่างไรในอนาคต ในการสร้างขีดความสามรถให้ชุมชนสามารถดำเนินการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม (ทั้งทางด้านการตระหนักถึงความเสี่ยง การจัดหาองค์ความรู้ในการรับมือกับความเสี่ยง เทคนิควิธีการและทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อการปรับตัว และการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวอย่างยั่งยืน)


การศึกษาส่วนที่ 3 การเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม

การวิเคราะห์ผลของกลไกขับเคลื่อนการปรับตัวต่อศักยภาพในการการปรับตัวและความเปราะบางของสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมี 3 ลักษณะ คือ

(1) การส่งผลต่อโครงสร้างการเกิดผลกระทบและความเปราะบาง

(2) การประสานการตอบสนองในระดับปัจเจกเข้ากับระดับกลุ่มก่อให้เกิดผลลัพธ์ของของการปรับตัว และ

(3) การทำหน้าที่ดึงทรัพยากรจากภายนอกเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการปรับตัว และเข้าถึงทรัพยากรนั้นๆ การจัดสถาบันและเครือข่ายทางสังคมจึงนำมาซึ่งความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งนี้การวิเคราะห์นำมาซึ่งข้อสรุปของปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ และปัจจัยที่ทำให้บรรลุผลในการจัดการความเสี่ยงผลการวิจัยจากทั้ง 2 พื้นที่จะมีการสอบทาน (Verification) อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงสู่ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชน ความรู้และเทคโนโลยี การทำงานขององค์กรชุมชนและเครือข่าย และองค์กรหนุนเสริม สู่การสร้างศักยภาพชุมชนในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

งานวิจัยนี้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องกลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชน โดยมีสมมติฐานว่า ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และเครือข่ายทางสังคม คือตัวขับเคลื่อนในการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นทางเลือกหนึ่งที่ส่งผลต่อศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศความเข้าใจในการทำงานของกลไกหลักในชุมชนที่มีความเปราะบางเชิงนิเวศสูงนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเสริมศักยภาพชุมชนอื่นๆ เพื่อลดความเปราะบางของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ประกอบด้วย

(1) ตัวชี้วัดความเปราะบางของชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีความหลากหลายของประเภทการทำประมง ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดมีค่าน้ำหนักที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทประมงและพื้นที่ (ระยองและตรัง)
(2) สถานภาพความเสี่ยงและความเปราะบางของชุมชนประมงพื้นบ้านต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(3) กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ
(4) แนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม
(5) บทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศและต่างประเทศ
(6) การนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับประเทศ
(7) การร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในเครือข่ายวิชาการ Thailand Adaptation Network

สรุปผลการศึกษา

 

โครงการวิจัยนี้เสนอการศึกษากลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ทั้งภาวะความแปรปรวนของสภาพอากาศ–climate variability– และภาวะวิกฤต–extreme–) มีระดับการวิเคราะห์ศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขององค์กรทางสังคมในระดับชุมชน จนถึงเครือข่ายทางสังคม โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่ากลไกหลักในการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม โดยมีภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทางเลือกในการปรับตัว งานศึกษานี้จึงเน้นชุมชนที่มีความเข้มแข็งของกลไกดังกล่าว ในขณะเดียวกับที่เป็นชุมชนที่มีความเปราะบางในเชิงนิเวศสูง คือชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง ทั้งนี้เพื่อถอดบทเรียนการทำงานของกลไกในการขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การออกแบบงานวิจัยจึงเน้นการศึกษาเปรียบเทียบ เครือข่ายชุมชนเข้มแข็งจาก 2 ลุ่มน้ำที่พึ่งพาความหลากหลายของทรัพยากรประมงภายใต้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยดังนี้

1. เพื่อศึกษาสภาวะความเปราะบางของชุมชนประมงที่เป็นชุมชนเข้มแข็งในระดับชุมชนและเครือข่าย

2. เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

3. เพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยการสำรวจครัวเรือน การสัมภาษณ์เชิงลึกและการอภิปรายกลุ่มประมงพื้นบ้าน และกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ผลลัพธ์ในรูปแบบของตัวชี้วัดความเปราะบางในระดับครัวเรือน ชุมชนและเครือข่าย ผลการประเมินสภาวะความเปราะบางของครัวเรือน องค์กรและเครือข่าย กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนผ่านองค์กรเข้มแข็งและเครือข่ายทางสังคม ใน 5 องค์ประกอบคือ (1) การสร้างความตระหนักในความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (2) การปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการความเสี่ยง (3) การสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง (4) การระดมทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อจัดการความเสี่ยง และ (5) การจัดสถาบันในการจัดการความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ซึ่งเน้นให้เห็นปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ และปัจจัยที่ทำให้บรรลุผลในการจัดการ

ในส่วนของการศึกษาสภาวะความเปราะบางของชุมชนประมงที่เป็นชุมชนเข้มแข็งในระดับชุมชนและเครือข่ายพบว่า ถึงแม้ระบบนิเวศชายฝั่งจะเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางเชิงนิเวศที่สูง ชุมชนประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ลุ่มน้ำมีความเปราะบางเชิงสังคมต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ต่ำ ทั้งนี้ด้วยความที่ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 2 พื้นที่เปิดรับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ต่ำ ชุมชนจึงยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือและปรับตัวในระดับชุมชน ดังจะเห็นได้จากค่าคะแนนของศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศในระดับชุมชนที่ต่ำ ประกอบกับชุมชนทั้ง 2 พื้นที่มีความไวต่อผลกระทบที่ต่ำอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบเพียงพอถึงขั้นที่จะเกิดการเตรียมรับและปรับตัว ทั้งนี้การเปิดรับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ต่ำ เป็นผลมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญที่กำหนดวิถีการทำประมงที่พึ่งพาระบบนิเวศ ความหลากหลายของทรัพยากรและแหล่งรายได้เลี้ยงชีพ ส่วนความไวต่อผลกระทบที่ต่ำเป็นผลมาจากความเข้มแข็งขององค์กรทางสังคมเป็นสำคัญที่กำหนดการเข้าถึงทรัพยากร การแบ่งปันผลประโยชน์ สิทธิในที่ดินทำกินและการตั้งถิ่นฐาน ส่วนศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ต่ำนั้นเป็นผลมาจากองค์กรทางสังคมยังไม่มีบทบาทด้านนี้ในระดับชุมชน ส่วนใหญ่ครัวเรือนชาวประมงพื้นบ้านมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ชาวประมงสามารถลดความเปราะบางได้ด้วยการลดการเปิดรับต่อผลกระทบ และเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ลุ่มน้ำรับมือกับวิกฤตน้ำจืดปี 2554 ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการคือ (1) ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่ม (2) ยุทธศาสตร์การสำรอง (3) ยุทธศาสตร์ความหลากหลาย (4) ยุทธศาสตร์การพึ่งตลาด และ (5) ยุทธศาสตร์การย้ายที่ ชาวประมงนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมาประยุกต์ใช้ในการรับมือกับวิกฤต การตัดสินใจต่างๆเกิดขึ้นในระดับครัวเรือน มีการปรึกษาหารือกันในกลุ่มเครือญาติและเพื่อนบ้านบ้างตามวิถี

ลักษณะการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ  (1) การรับมือต่อวิกฤตเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เช่น ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการข้างต้น (2) การรับมือต่อวิกฤตเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนร่วม เช่น การเพิกเฉยต่อการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรประมง/ ระบบนิเวศ และการส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้ทรัพยากรประมงอย่างเข้มข้นในพื้นที่นอกวิกฤต (3) การรับมือต่อวิกฤตที่ต้องการพฤติกรรรมร่วม (Collective action) เช่น การอนุรักษ์/ ฟื้นฟูฐานทรัพยากรร่วม การทำประมงหลังภาวะวิกฤตเป็นภาวะที่เปราะบางของระบบนิเวศ การอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูระบบนิเวศซึ่งเป็นฐานทรัพยากรร่วมนี้ต้องการการก่อรูปสถาบันทางสังคมเพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วม

การรับมือต่อภาวะวิกฤตอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาทั้ง 2 พื้นที่ เป็นการรับมือที่อยู่บนฐานการตัดสินใจของครัวเรือนมากกว่าชุมชน เป็นการใช้ภูมิปัญญาระดับครัวเรือนในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การก่อรูปสถาบันทางสังคมระดับชุมชนในการรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่เกิดขึ้นทั้ง 2 พื้นที่ ถึงแม้ทั้ง 2 พื้นที่จะเป็นที่ที่มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีองค์กรชุมชนและเครือข่ายอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง แต่การรวมตัวกัน การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาการจัดการวิกฤตการทำลายฐานทรัพยากรมากกว่าจะเป็นการจัดการความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของการศึกษากลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ดำรงวิถีประมงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นท่ามกลางระบบนิเวศที่มีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยให้ชาวประมงมีการจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างยืดหยุ่น และสอดคล้องกับพลวัตของระบบนิเวศ ชาวประมงเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน มีการธำรงรักษาความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ มีการประสานความรู้ประเภทต่างๆเพื่อการเรียนรู้ และมีการสร้างโอกาสในการจัดองค์กร/ สถาบันและเชื่อมประสานองค์กร/ สถาบันในระดับต่างๆ ก่อให้เกิดความยืดหยุ่นของสังคม

ชาวประมงรับมือกับวิกฤตการทำลายฐานทรัพยากรด้วยการจัดการสถาบันในระดับชุมชนและเครือข่าย โดยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในพลวัตของทรัพยากรและระบบนิเวศ ผนวกองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาเข้าสู่การปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรแบบยืดหยุ่นปรับตัว มีสถาบันที่มีความยืดหยุ่นเชื่อมโยงหลายระดับ และสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆจากภายนอก

การสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในที่นี้เน้นการก่อรูปของสถาบันทางสังคมเพื่อการปรับตัวในระดับชุมชน ความท้าทายประการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การก่อรูปของสถาบันทางสังคมเพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นได้ยากกว่ากรณีที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

ปริมาณน้ำฝนมากในปี 2554 ส่งผลกระทบต่อวิถีประมงพื้นบ้านของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำปะเหลียนสูญเสียรายได้จากการประมงหอยตลับซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของพื้นที่ หอยตลับตายจากปริมาณน้ำฝนที่มากและต่อเนื่อง ในขณะที่ชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำประแสสูญเสียรายได้จากการทำประมงสัตว์น้ำที่หนีน้ำจืดจากการระบายน้ำล้นเขื่อนลงปลายน้ำแม่น้ำประแส ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกระทบต่อทรัพยากรประมงยังเป็นประเด็นท้าทายในการปรับตัวของชุมชนประมงพื้นบ้าน

กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการจัดการความเสี่ยงอันเกิดจากวิกฤตต่างๆ ประกอบด้วย (1) การตระหนักในความเสี่ยงจากวิกฤตการทำลายฐานทรัพยากรที่เกิดขึ้น (2) ปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อจัดการความเสี่ยง (3) มีการสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง (4) มีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ และ (5) การจัดสถาบันเพื่อการจัดการความเสี่ยง การสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศระดับชุมชนนั้น ไม่สามารถแยกองค์กรการจัดการออกมาจากองค์กรชุมชนที่มีอยู่ แต่เป็นลักษณะการเสริมศักยภาพองค์กรที่มีอยู่ให้มีความพร้อมมากขึ้นในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาสู่กรอบคิดในการจัดการฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพราะในทัศนะของชาวประมงพื้นบ้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติคือการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอด และการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืนต้องรักษาฐานทรัพยากรให้มั่นคง เพื่อเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและลูกหลาน

ความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านทั้งในรูปของผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและผลกระทบที่สะสมซึ่งจะส่งผลให้เกิดวิกฤตในอนาคตดังนั้นการพิจารณาในมุมมองการพัฒนาชุมชน หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานของชุมชนจึงมีความจำเป็นต้องรวมประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไว้ในกรอบแนวคิดเดียวกัน ทั้งนี้มีมุมมองที่ขยายพื้นที่การจัดการและขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เครือข่ายประมงพื้นบ้านจึงมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรประมงไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นขยายเครือข่ายประมงพื้นบ้านเชื่อมโยงกับเครือข่ายการจัดการน้ำที่ลุ่มน้ำประแส หรือเครือข่ายการจัดการลุ่มน้ำที่ลุ่มน้ำปะเหลียน เป็นต้น

งานวิจัยเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ด้วยปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ และ ปัจจัยที่ทำให้บรรลุผลในการจัดการ

ปัจจัยที่ทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ คือองค์ความรู้ที่ช่วยสร้างความตระหนักในความเสี่ยง ซึ่งองค์ความรู้นี้อาจเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือความรู้วิทยาศาสตร์ หรือการผสมผสานองค์ความรู้ทั้ง 2 รูปแบบ สำหรับการจัดการความเสี่ยงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชาวประมงพื้นบ้าน องค์ความรู้วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักในความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และสามารถประเมินความเสี่ยงได้

การจัดสถาบันเพื่อการจัดการความเสี่ยงสู่ความสำเร็จประกอบด้วย (1) การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในพลวัตของทรัพยากรและระบบนิเวศ (2) การผนวกองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาเข้าสู่การปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรแบบยืดหยุ่นปรับตัว (Adaptive management) (3) การสร้างสถาบัน (กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ) ที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับระบบการจัดการทรัพยากรอื่นๆ และ (4) การจัดการกับตัวขับเคลื่อนจากภายนอก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากภายนอก

ปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงบรรลุผลคือการจัดสถาบันที่อยู่บนฐานของศักยภาพในการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ ก่อให้เกิดการลดการเปิดรับผลกระทบ และลดความไวของระบบเศรษฐกิจสังคมต่อสถานการณ์ของวิกฤต ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงมีบทบาทในการสร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดสถาบันให้สอดคล้องกับพลวัตของระบบนิเวศที่มีความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน แต่กระนั้นก็ตามประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง และเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความตระหนักและรับมือต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องมีการประสานกับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ องค์กรและเครือข่ายที่มีอยู่ต้องมีการหนุนเสริมศักยภาพเพื่อขยายขอบเขตการจัดการเชิงพื้นที่และเวลาให้ครอบคลุมภาพรวมของผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้เป้าประสงค์ขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ยังคงเดินหน้าเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยเพิ่มลักษณะการจัดการที่ยืดหยุ่นและปรับตัว (Adaptive management) ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องอาศัยกระบวนการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศที่มากขึ้น

 

ดาวน์โหลด: รายงานฉบับสมบูรณ์