You are here: Home / งานวิจัย / โครงการวิจัย / การศึกษากลไกการบริหารจัดการความเสี่ยงของภาคส่วนเกษตรต่อสภาวะอากาศรุนแรง โดยระบบประกันภัยพืชผล: กรณีศึกษาระบบเพาะปลูกข้าว

การศึกษากลไกการบริหารจัดการความเสี่ยงของภาคส่วนเกษตรต่อสภาวะอากาศรุนแรง โดยระบบประกันภัยพืชผล: กรณีศึกษาระบบเพาะปลูกข้าว

The Study of Agricultural Risk Management Mechanism for Preparation toward Extreme Weather Conditions using Crop Insurance: The Case Study of Thailand's Rice Cultivation

 

คณะผู้วิจัย

ชื่อหน่วยงาน
ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ The Australian National University ภาควิชา Crawford School of Economics and Government
ดร.ปรีสาร รักวาทิน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ สำนักการจัดการ มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง

 

ระยะเวลาดำเนินการ

18 เดิอน [สิงหาคม 2555 -  มกราคม 2557]

 

รายละเอียดโดยย่อ

โครงการวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะศึกษาแนวทางการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยระบบประกันภัยพืชผลและการกระจายความเสี่ยงของประเทศไทยโดยผ่านกลไกการเงินนานาชาติ โดยการวิจัยจะเป็นการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลภูมิสารสนเทศเกี่ยวกับการเพาะปลูก ข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งแสดงความเสียหายของข้าวที่เกิดจากสภาวะอากาศรุนแรง ข้อมูลเกี่ยวสถานภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และข้อมูลตลาดโลกของข้าวและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เข้าร่วมกับวิธีการวิเคราะห์ในหลายสาขาทั้งวิธีการประมวลผลด้วยเทคโนโลยีสัมผัสระยะไกล (remote sensing) การประมวลผลด้วยเทคนิคด้านภูมิสารสนเทศ ร่วมกับวิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน ซึ่งการบูรณาการข้อมูลและวิธีวิเคราะห์เหล่านี้จะนำไปสู่ความเข้าใจขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงการผลิตข้าวและแนวทางบริหารความเสี่ยง รวมถึงแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวในอนาคต โดยโครงการวิจัยได้จะมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลักได้แก่

1) การประเมินความเสียหายของการผลิตข้าวในพื้นที่สำคัญ 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการศึกษาและพัฒนาวิธีการประเมินความเสียหายที่เกิดจากสภาวะอากาศรุนแรงจากการใช้ข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) รวมถึงการความสัมพันธ์ของผลที่ได้จากวิธีการวิเคราะห์ดัง
กล่าว กับข้อมูลความเสียหายที่ได้จากการรายงานผ่านกระบวนการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นตัวแปรหลักในการกำหนดระบบดัชนีในการออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยพืชผล
2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลทั้งด้านการวิเคราะห์คุณลักษณะของความเสี่ยง การคำนวณราคาเบี้ยประกัน และการบริหารความเสี่ยงของผู้รับประกันภัย โดยใช้ข้อมูลความเสียหายที่ได้จากการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) ข้อมูลสภาพอากาศ ร่วมกับวิธีการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย และเสนอแนะรูปแบบกรมธรรม์ที่เหมาะสม
3) ศึกษาแนวทางการพัฒนาบริหารเงินทุนประกันภัย และบทบาทของภาครัฐในการบริหารความเสี่ยงและพัฒนาตลาด โดยการกระจายความเสี่ยงภายในประเทศระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ และการกระจายความเสี่ยงในระดับนานาชาติโดยใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดสินค้าซื้อขายล่วงหน้า หรือในตลาดตราสารทางการเงินอื่นๆ เช่น พันธบัตรภัยพิบัติ (catastrophe bond) เพื่อเสนอแนะกรอบระบบประกันภัยด้านการผลิตข้าว และการบริหารความเสี่ยงของประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต

โครงการวิจัยนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการบูรณาการข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ในหลายสาขาเพื่อประเมินถึงคุณลักษณะความเสี่ยง และเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมของทั้งภาคเกษตรกร ภาครัฐ และผู้มีส่วนร่วมในภาคอื่นๆ ในการรับมือกับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ จากสภาวะอากาศรุนแรงซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) ในการติดตามและประเมินความเสียหายของการเพาะปลูกข้าวที่ประสบอุทกภัย และภัยแล้ง บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ และพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง
2) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยโดยใช้ข้อมูลความเสียหายที่ได้จากเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศ และวิธีการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ในวิเคราะห์คุณลักษณะของความเสี่ยง และการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยและการประเมินราคาเบี้ยประกัน
3) เพื่อศึกษาแนวทางการกระจายความเสี่ยงของผู้รับประกันภัย และบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนและร่วมพัฒนาตลาด รวมถึงบริหารความเสี่ยงทั้งในกรณีของการกระจายความเสี่ยงภายในประเทศ และการกระจายความเสี่ยงในระดับนานาชาติ


ขั้นตอนการศึกษาและวิธีดำเนินการวิจัย

1) รวบรวมและจัดสร้างระบบฐานข้อมูลในช่วงแรกของการวิจัยจะเป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลลักษณะการใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ข้อมูลผลผลิตพืชไร่ในอดีต และข้อมูลผลการพยากรณ์ผลผลิตพืชไร่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ข้อมูลทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ปลูกพืชไร่ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อใช้ในการศึกษาด้านเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล(remote sensing) นอกจากข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศเหล่านี้แล้ว การศึกษานี้ยังเก็บรวบรวมข้อมูลในอดีตของตลาดสินค้าเกษตรโลก เพื่อใช้ประกอบแบบจำลองตลาดโลกของการค้าข้าว และข้อมูลในอดีตของสินค้าโภคภัณฑ์และพันธบัตรภัยพิบัติ

2) ศึกษาและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล(remote sensing) ในการติดตามและประเมินผลกระทบของอุทกภัยและภัยแล้ง

2.1) การวิเคราะห์พื้นที่ประสบอุทกภัย จะเป็นการใช้โปรแกรมประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียมประเภท Synthetic ApertureRadar (SAR) ซึ่งมีความสามารถทะลุทะลวงเมฆขณะถ่ายภาพ ทำให้ถ่ายภาพพื้นที่น้ำท่วมในทุกสภาวะอากาศสำหรับการหาพื้นที่น้ำท่วมจากภาพ SAR นั้นจะอาศัยคุณสมบัติการวัดการสะท้อนกลับของคลื่นเรดาห์ (RadarBackscattering) โดยบริเวณที่มีน้ำท่วมซึ่งมีพื้นผิงเรียบจะมีค่า Radar Backscatter ต่ำ แต่พื้นแผ่นดินซึ่งถือเป็นพื้นผิวที่ขรุขระจะมีค่า Radar Backscatter ที่สูง ทำให้สามารถนำเทคนิค Thresholding มาแบ่งแยกพื้นที่น้ำท่วมออกมาจากพื้นที่อื่นๆได้ง่าย นอกจากนี้จะนำพื้นที่น้ำท่วมที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมประเภท SAR มาบูรณาการร่วมกับข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่การใช้ที่ดิน แบบจำลองลักษณะภูมิประเทศ จากนั้นนำข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมมาซ้อนทับกับข้อมูลขอบเขตการปกครองในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมแต่ละช่วงเวลา (GISDatabase) ทั้งนี้ พื้นที่น้ำท่วมดังกล่าวอาจรวมถึงพื้นที่น้ำท่วมขังถาวร แต่ไม่รวมถึงห้วย หนอง คลองบึง หรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงบริเวณที่น้ำท่วมขังในแต่ละช่วงเวลา

2.2) การวิเคราะห์พื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึงใช้ข้อมูลค่าดัชนีพืชพรรณโดยใช้วิธีการ NDVI (Normalized Difference VegetationIndex) จากดาวเทียม Terra MODIS ตั้งแต่ปี 2000 จนถึง ปี 2011 เป็นข้อมูลราย 16 วัน และมีความละเอียดเชิงพื้นที่250 เมตร มาคำนวณดัชนีสภาวะของพืชพรรณ (Vegetation Condition Index: VCI) ในช่วงเวลา 16 วันของข้อมูลค่าดัชนีพืชพรรณผลต่างแบบนอร์แมลไลซ์ ทั้งนี้ การคำนวณสภาวะของอุณหภูมิ (Temperature Condition Index: TCI) จะใช้การรวมค่าความสว่างของจุดภาพสูงสุด ในช่วงเวลา 16 วันของค่าอุณภูมิความสว่าง ค่า TCI เป็นค่าที่ได้จากการทำให้เป็นบรรทัดฐานด้วยค่าสูงสุด และค่าต่ำสุดของค่าอุณภูมิความสว่างในหลากหลายปีการคำนวณ Vegetation-Temperature Condition Index (VTI) โดย VTI คือค่าเฉลี่ยของ VCI และ TCI ซึ่งค่าของ VTI ที่คำนวณได้จะแสดงถึงสภาวะของพืชพรรณ รวมถึงการประสบภัยแล้งของพืช

2.3) การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม MODIS โดยใช้สัญญาณค่า NDVI โดยการวิเคราะห์สัญญาณของ NDVIสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุรูปแบบการปลูกข้าว ระยะการเจริญเติบโตของข้าว และการใช้ NDVI ในการตรวจสอบความเสียหายของข้าวจากภัยพิบัติ โดยใช้พารามิเตอร์ที่สำคัญซึ่งแสดงถึงฤดูกาล เช่น เวลาของการเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของฤดูการเพาะปลูก หรือการใช้ตัวกรองสัญญาณ (filter) ในการทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีผลกระทบจากสัญญาณรบกวนที่ลดลงและทำให้มีเสถียรภาพของสัญญาณดีขึ้น โดยงานวิจัยของ Eklundh (2009) ได้เสนอแนะวิธีการบ่งชี้ฤดูกาลเพาะปลูกจากสัญญาณของ NDVI โดยกำหนดให้ เวลาเริ่มต้นฤดูปลูกข้าวคือเวลาที่สัญญาณค่า NDVI ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันเวลาเก็บเกี่ยวสิ้นสุดของฤดูคือเวลาที่ค่า NDVI ได้ลดลงไประดับผู้กำหนดวัดจากระดับต่ำสุดที่เหมาะสม จากวิธีการดังกล่าว ทำให้สามารถทราบความยาวของฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งหากนำข้อมูลความยาวของแต่ละฤดู มาประกอบกับข้อมูลน้ำท่วมที่ได้มาจากการ Threshold จากภาพถ่ายดาวเทียม Radarsat 1-2และข้อมูลภัยแล้ง ก็จะช่วยทำให้การประเมินมูลค่าความเสียหายของข้าว ณ สถานะการปลูกในช่วงเวลาต่างๆ ได้ละเอียดมากขึ้น

3) แนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยโดยใช้ข้อมูลความเสียหายที่ได้จากเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (remote sensing)ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศและข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือน

3.1) ศึกษาการนำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล(remote sensing) และข้อมูลสภาพอากาศ ร่วมกับข้อมูลความเสียหายของการปลูกข้าวที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งและอุทกภัย(จัดเก็บโดยกระทรวงเกษตรฯ) และข้อมูลภาวะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน (จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) มารวบรวมเป็นฐานข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์สารสนเทศและจัดทำ(1) ดัชนีความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากการเหตุภัยแล้ง และอุทกภัย 3(2) จัดสร้างสมการที่แสดงความสัมพันธ์ดังกล่าว (หรือ สมการแสดงความเสียหาย (Loss Function))

3.2) ศึกษาการกำหนดเงื่อนไขและการคำนวณราคาของประกันภัยพืชผล

3.3) ภายหลังจากการประมาณสมการแสดงความเสียหาย (Loss Function)) และการคำนวณมูลค่าเบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกรและผู้รับประกันภัย (Actuarial fair price) กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาความเป็นไปได้และความยั่งยืนของระบบประกันภัยนี้คือ การศึกษาบทบาทที่ภาครัฐควรมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจัดแบ่งออกเป็นระดับของความสามารถในการรับความเสี่ยง (risk layering approach) ของเกษตรกร ภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยให้เห็นเข้าใจถึงขีดจำกัดในรับความเสี่ยงของแต่ภาคส่วน นอกจากนี้คุณลักษณะของประกันภัยพืชผล(สำหรับการเพาะปลูกข้าว)ที่ได้ศึกษาแนวทางการจัดสร้างตามรายละเอียดใน 3.1 – 3.2 จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับโครงการประกันภัยพืชผลที่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อศึกษาถึงจุดแข็งและข้อจำกัดของการรับประกันภัยแต่ละแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการรับประกันภัยพืชผลต่อไป

4) ศึกษาความเป็นไปได้ในการกระจายความเสี่ยงของผู้รับประกันภัย(Insurer)เนื่องจากผู้รับประกันภัยจะต้องการเผชิญกับความเสี่ยงของภัยที่จะเกิดขึ้น การศึกษาความเป็นไปได้ในการกระจายความเสี่ยงของผู้รับประกันจะช่วยให้ผู้รับประกันสามารถบริหารความเสี่ยงจากการรับประกันได้ดีขึ้น รวมไปถึงการส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันภัยมีราคาลดลง ซึ่งจะนำผลดีมาสู่ทั้งผู้รับประกันและเกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยนำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการประกันภัยพืชผล โดยคณะผู้วิจัยจะศึกษาแนวทางการกระจายความเสี่ยงผ่านทาง 2 วิธีการ คือ

4.1) การจัดสร้างพันธบัตรภัยพิบัติ(catastrophe bond) คณะผู้วิจัยจะศึกษาแนวทางในการจัดสร้างพันธบัตรภัยพิบัติ(catastrophe bond) ซึ่งจะใช้เป็นเงินทุนในการรับประกันภัยการเพาะปลูกข้าว และจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงผ่านการซื้อขายในตลาดระหว่างประเทศ และลดภาระทางการเงินของผู้รับประกันภัย ซึ่งในโครงการวิจัยนี้จะเปรียบเทียบคุณลักษณะพันธบัตรภัยพิบัติ(catastrophe bond) ที่จะจัดสร้างขึ้นกับพันธบัตรภัยพิบัติ(catastrophe bond) อื่นๆ ที่ซื้อขายในตลาดระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างและนำพันธบัตรดังกล่าวออกขายในอนาคต

4.2) การกระจายความเสี่ยงของผู้รับประกันโดยการใช้ตราสารในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในการศึกษานี้ คณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาแนวทางการกระจายความเสี่ยงของผู้รับประกันโดยการใช้ตราสารในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า(Futures) เป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยง โดยผู้วิจัยจะใช้วิธีการทางเศรษฐมิติในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตหลักในโลก กับการเปลี่ยนแปลงของราคาข้าวและสินค้าอื่นๆในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ณ เมืองชิคาโก และเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา และการข้อมูลของการซื้อขายรวมถึงกลไกราคา ซึ่งความสัมพันธ์ที่ได้จากการศึกษาจะระบุถึงความเป็นไปได้ในพัฒนาระบบการกระจายความเสี่ยงผ่านทางตราสารในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และอาจนำไปสู่การพัฒนาให้โครงการประกันภัยฯ มีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

5) ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ระบบประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืนผลการศึกษาใน 2) ถึง 4) จะนำมาสู่ข้อสรุปถึงศักยภาพและข้อจำกัดของประเทศไทยภายในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมด คณะผู้วิจัยจะนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งประกอบด้วย

5.1) แนวทางการนำเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล(remote sensing) และข้อมูลสภาพอากาศมาประยุกต์ในการติดตามและประเมินความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่อยู่ภายใต้โครงการประกันภัยพืชผล

5.2) แนวทางการคำนวณคุณลักษณะทางสถิติของความเสียหายและการกำหนดราคาเบี้ยประกันภัย ภายใต้โครงการรับประกันภัยพืชผลซึ่งใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล(remote sensing) และข้อมูลสภาพอากาศ

5.3) แนวทางของระบบประกันภัยพืชผลดังที่ใช้แนวทางใน 4.1) และ 4.2) โดยรัฐบาลเป็นผู้รับประกัน (Insurer) เองทั้งหมดหรือกรณีที่รัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันหรือรับประกันภัยเพิ่มให้ในกรณีที่เกษตรกรอยู่เขตที่มีความเสี่ยงสูง หรือได้ทำการเพาะปลูกตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

5.4) แนวทางที่รัฐบาลทำงานร่วมกับภาคเอกชนผ่านระบบตลาดประกันภัย หรือตลาดตราสารทางการเงิน/ตราสารในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยการที่รัฐบาลเป็นผู้รับประกันกับเกษตรกร และบริหารความเสี่ยงผ่านทางการจัดทำและจำหน่ายพันธบัตรภัยพิบัติในตลาดนานาชาติ หรือกระจายความเสี่ยงผ่านตราสารทางการเงินในการตลาดนานาชาติของสินค้าเกษตรล่วงหน้า

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) ระบบข้อมูลซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลภูมิสารสนเทศของสภาพภูมิอากาศ ผลผลิตข้าว ลักษณะความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และลักษณะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตร

2) รายงานฉบับสมบูรณ์พร้อมข้อมูลและผลการวิเคราะห์ รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยการเพาะปลูกข้าวของประเทศไทยโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล(remote sensing) และข้อมูลสภาพอากาศ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงโดยใช้พันธบัตรภัยพิบัติหรือตราสารทางการเงินในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า

3) งานวิจัยที่พร้อมสำหรับการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการและการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

 

สรุปผลความก้าวหน้าการศึกษาวิจัย

โครงการวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะศึกษาแนวทางเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการวิจัยจะเป็นการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลภูมิสารสนเทศเกี่ยวกับการเพาะปลูก  ข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งแสดงความเสียหายของข้าวที่เกิดจากสภาวะอากาศรุนแรง ข้อมูลเกี่ยวสถานภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และข้อมูลตลาดโลกของข้าวและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เข้าร่วมกับวิธีการวิเคราะห์ในหลายสาขาทั้งวิธีการทางภูมิสารสนเทศ การวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองผลผลิตพืช และวิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน ซึ่งการบูรณาการข้อมูลและวิธีวิเคราะห์เหล่านี้จะนำไปสู่ความเข้าใจขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงการผลิตข้าวและแนวทางบริหารความเสี่ยงซึ่งภาครัฐ  รวมถึงแนวทางการพัฒนาในอนาคต โดยโครงการวิจัยได้จะมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลักได้แก่

1. การประเมินความเสียหายของการผลิตข้าวในพื้นที่สำคัญ 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการศึกษาและพัฒนาวิธีการประเมินความเสียหายที่เกิดจากสภาวะอากาศรุนแรงจากการใช้ข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (remote sensing)  รวมถึงการความสัมพันธ์ของผลที่ได้จากการวิเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) กับข้อมูลความเสียหายที่ได้จากการรายงานผ่านกระบวนการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.  ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยทั้งด้านการวิเคราะห์คุณลักษณะของความเสี่ยง การคำนวณราคาเบี้ยประกัน และการบริหารความเสี่ยงของผู้รับประกันภัย โดยใช้ข้อมูลความเสียหายที่ได้จากการรับรู้ระยะไกล (remote sensing)    ร่วมกับการประยุกต์ใช้แบบจำลองผลผลิตข้าว  และวิธีการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย

3.  ศึกษาแนวทางการพัฒนาบริหารเงินทุนประกันภัย โดยการกระจายความเสี่ยงภายในประเทศระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ และการกระจายความเสี่ยงในระดับนานาชาติโดยใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดสินค้าซื้อขายล่วงหน้า หรือในตลาดตราสารทางการเงินอื่นๆ เช่น พันธบัตรภัยพิบัติ (catastrophe bond)  เพื่อศึกษาแนวทางซึ่งนำไปสู่ระบบประกันภัยด้านการผลิตข้าวของประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต

โดยในช่วงเดือนที่ 1 – 6  (เดือนสิงหาคม 2555 – เดือนมกราคม 2556) ได้มีการดำเนินกิจกรรมตามที่ระบุในข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลดาวเทียม ได้แก่

กิจกรรม 1.1 การรวบรวมข้อมูลผลิตภัณท์ภาพถ่าย MODIS ผ่านเวปไซต์ LP DAAC และรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Radarsat 1-2

กิจกรรม 1.2 การเตรียมข้อมูลก่อนประมวลผล (Pre-processing): การปรับแก้เชิงแสง (radiometric correction) การปรับแก้เชิงเรขาคณิต (geometric correction), การกำจัดสัญญาณรบกวน (noise reduction)

ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 2 กิจกรรม ได้ผลผลิตตามแผนงานร้อยละ 100 นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้เพิ่มเติมการนำข้อมูลอีก 1 ชุดมาประกอบงานวิจัยนี้ คือ ข้อมูล KBDI (Keetch-Byram Drought Index) ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลดาวเทียมประกอบข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อแสดงถึงดัชนีความแห้งแล้งในจุดต่างๆ บนพื้นโลก โดยผู้วิจัยได้รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลดังกล่าวสำหรับบริเวณของประเทศไทย และจะนำข้อมูลนี้มาประกอบการบ่งชี้ภัยแล้งควบคู่ไปกับการใช้  VCI (Vegetation Condition Index)  และ  TCI (Temperature Condition Index) ตามที่ระบุในข้อเสนอโครงการ

นอกจากกิจกรรม 1.2 และ 1.3 แล้ว ในช่วงเดือนสิงหาคม 2555  - มกราคม 2556  ผู้วิจัยได้ดำเนินกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนที่ 4 – 12 ประกอบด้วย

กิจกรรม 1.3 การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อแสดงพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยข้อมูลจะต้องผ่านตัวกรอง (filtering) เพื่อลดจุดกระ (speckle noise) จากนั้นนำเทคนิค thresholding มาแบ่งแยกพื้นที่น้ำท่วมออกมาจากพื้นที่อื่นๆ

กิจกรรม 1.4 การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจวัดความแห้งแล้ง คำนวณโดยใช้ดัชนีสภาวะของพืชพรรณ (Vegetation Condition Index: VCI) ในช่วงเวลา 16 วัน และ คำนวณสภาวะของอุณหภูมิ (Temperature Condition Index: TCI) เพื่อหา Vegetation-Temperature Condition Index (VTI)

โดยผลผลิตของกิจกรรม 1.3 มีความก้าวหน้าร้อยละ 100 และกิจกรรม 1.4 คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและคำนวณค่าของ VCI และ TCI ในบริเวณภาคตะวันเฉียงเหนือแล้วเสร็จ และจะดำเนินการเปรียบเทียบกับข้อมูลภาคพื้น (ground data) เพื่อวิเคราะห์ความถูกต้อง  ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เพิ่มเติมการจัดสร้างดัชนีแสดงสภาวะแห้งแล้งเพิ่มเติมอีก 1 ดัชนี โดยวิธีการ NDVI – LST และจะนำมาใช้ร่วมกับดัชนี VCI  ดัชนี TCI และดัขนี KBDI ในการบ่งชี้จุดที่เกิดภัยแล้ง ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญร่วมกับตัวแปรอื่นๆ ของการหาความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านภูมิอากาศที่ทำให้เกิดความสูญเสียของพื้นที่เพาะปลูกข้าว (กิจกรรมที่ 2.1) และจัดสร้างสมการอธิบายความสูญเสีย (Loss Function) ของพื้นที่นาข้าว(กิจกรรมที่ 2.2) และนำไปสู่การประเมินราคาประกันภัยพืชผลตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย (กิจกรรมที่ 2.3) โดยความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตของแต่ละกิจกรรมด้านการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) กับการหาสัมพันธ์ของปัจจัยด้านภูมิอากาศที่ทำให้เกิดความสูญเสียในพื้นที่ปลูกข้าวและจัดสร้างสมการอธิบายความสูญเสีย มีลักษณะดังแสดงในแผนภาพที่ 1  และคณะผู้วิจัยจะดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงเดือนที่ 7 – 18 ตามที่ระบุในข้อเสนอโครงการต่อไป

 

 

DrNattapong_Project6_remote_sensing-n-loss_Fnc

ภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ของผลลัพธ์ของกิจกรรมด้านการรับรู้ระยะไกล (remote sensing) เพื่อจัดสร้างสมการแสดงความเสียหาย (Loss Function)

 

ดาวน์โหลด: รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1