You are here: Home

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทย

 

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้สังคมต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากผลกระทบของสภาพอากาศที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน การขยับเลื่อนของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงความถี่และความรุนแรงของสภาวะอากาศรุนแรง เป็นต้น  ส่งผลให้ระบบนิเวศ และ/หรือ ระบบสังคมเศรษฐกิจตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ได้รับผลกระทบและตกอยู่ใต้ภาวะเสี่ยงที่แตกต่างกัน เนื่องจากระบบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับภูมิอากาศแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่   การปรับตัวเพื่อให้ระบบและภาคส่วนต่างๆ สามารถดำรงอยู่และสามารถดำเนินกิจกรรมหรือวิถีชีวิตต่อไปได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และอาจรวมถึงการแสวงหาแนวทางใหม่ที่จะลดภาวะล่อแหลมเปราะบางของระบบหรือภาคส่วนต่างๆ ต่อผลกระทบและผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศลง โดยการลดการเปิดรับต่อผลกระทบหรือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ การลดความอ่อนไหวหรือความไวต่อผลกระทบหรือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ การเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือต่อความเสี่ยงต่างๆ หรือ กระทำทั้งสามประการนี้ควบคู่กันไป โดยอาจเป็นการพิจารณาในแง่มุมของระบบหรือภาคส่วน หรือ พิจารณาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ในเงื่อนไขเวลาที่แตกต่างกัน หรือ พิจารณาในแง่มุมของการดำเนินการทางกายภาพ หรือ การปรับวิถีชีวิต หรือ กลไกทางด้านกฎระเบียบและสถาบัน  ทั้งนี้ขึ้นกับบริบทของระดับการตัดสินและเป้าหมายในการดำเนินการ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้ จึงต้องมีการดำเนินการในวงกว้างและพิจารณาในแง่มุมที่หลากหลาย

การทำความเข้าใจต่อประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อาจประกอบด้วยประเด็นหลักๆดังต่อไปนี้

1.การทบทวนและวิเคราะห์นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทย
เพื่อค้นหาช่องว่างและประเด็นที่พึงพิจารณาในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเสนอแนะแนวทางในการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศในบริบทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำเสนอผลการวิเคราะห์จากการบูรณาการประเด็นดังกล่าวในนโยบายนั้นๆ หรือ แผนยุทธศาสตร์นั้นๆ ตัวอย่างเช่น นโยบายผังเมือง ยุทธศาสตร์น้ำ แผนการพัฒนาลุ่มน้ำ ฯลฯ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าแผนหรือยุทธศาสตร์เหล่านั้นจะมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต หรือสามารถดำเนินการได้โดยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ


2. การศึกษาเชิงพื้นที่ โดยครอบคลุมเนื้อหาอย่างน้อยในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ต่อไปนี้


2.1.การวิเคราะห์ความสามารถในการปรับตัวของชุมชนและภาคส่วนต่างๆต่อสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอดีตถึงปัจจุบัน โดยรวบรวมแนวทางที่ชุมชน หรือ หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ต่างๆ ใช้บริหารจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบของสภาพอากาศ  และวิเคราะห์ถึงอิทธิพลหรือแรงผลักดันของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาในอดีตถึงปัจจุบันที่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผล ของแนวทางที่ชุมชน หรือ ภาคส่วน/หน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ใช้บริหารจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปัจจุบัน และมองถึงเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนมีทางเลือกต่างๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศหรือปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยอาจครอบคลุมประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันว่าชาวบ้านยังคงมีความสามารถในการหาทางเลือกต่างๆ หรือไม่ หรือว่า ถูกจำกัดลงภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
2.2.การวิเคราะห์ความเสี่ยงและภาวะล่อแหลมเปราะบางของพื้นที่ (ลุ่มน้ำ / จังหวัด / ชุมชน) ต่อสภาพอากาศจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยพิจารณาทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคม และประเมินยุทธศาสตร์หรือแนวทางการปรับตัวแบบองค์รวมเชิงพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน โดยพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งอาจจะมีแนวทางในการสนองตอบต่อความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่ต่างกัน แต่มีผลกระทบซึ่งกันและกันข้ามภาคส่วน และวิเคราะห์ว่าแนวทางที่ชุมชน หรือ หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ต่างๆ ใช้บริหารจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบของสภาพอากาศในปัจจุบันนี้จะยังคงเป็นแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่ภายใต้สภาพการณ์อนาคต


2.3.การวิเคราะห์ความสามารถในการปรับตัวของชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต โดยวิเคราะห์ถึงศักยภาพของแนวทางต่างๆ ที่ชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ใช้บริหารจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปัจจุบันเพื่อการใช้บริหารจัดการความเสี่ยงในอนาคตภายใต้เงื่อนไขของภาพฉายอนาคตต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และประเมินร่วมกับแนวโน้มของความเสี่ยง (exposure และ sensitivity) ของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต หรือ ศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ โดยนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอนาคตมาร่วมเป็นปัจจัยในการพิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางที่ชุมชนหรือภาคส่วนสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในปัจจุบันได้ดีขึ้น และแนวทางนั้นสอดคล้องกับสภาพการณ์ในอนาคต ให้แน่ใจว่าการพัฒนาจะไม่นำชุมชนไปสู่จุดอับภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และหาคำตอบถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนา หากพบว่าแนวทางที่วางแผนอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขในอนาคต และศึกษาถึงเงื่อนไขที่ทำให้สามารถจัดตั้งดำเนินการแนวทางนั้นๆ (enabling factor) เงื่อนไขที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ (critical success factor) อีกทั้งการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้เงื่อนไขต่างๆ (เช่น cost/benefit analysis หรือ multi-criteria analysis เป็นต้น) และศึกษาถึงกลไกต่างๆที่จะเอื้อให้เกิดการดำเนินการปรับตัวในระดับต่างๆ ที่เหมาะสมและดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน


3.การศึกษาด้านกลไกสนับสนุนการปรับตัวหรือการจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศต่างๆ

การศึกษาด้านกลไกที่เป็นนวัตกรรมในการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งอาจเป็นการกระจายความเสี่ยงข้ามภาคส่วน ข้ามพื้นที่ และข้ามห้วงเวลา เช่น กลไกการประกันภัยโดยมีเงื่อนไขสอดคล้องกับการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศแปรปรวนหรือเงื่อนไขที่นำไปสู่การดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะสภาพอากาศรุนแรง หรือ มาตรการเชิงสังคมที่ก่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนที่จะร่วมแบ่งรับความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน หรือ กลไกในการส่งผ่านข่าวสารที่นำไปสู่การสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงจากสภาพอากาศ (risk communication) และสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินการเพื่อเตรียมรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น เป็นต้น หรือ ภาคประชาสังคมได้มี และ/หรือ สามารถมีบทบาทอย่างไรในการสนับสนุนให้ชาวบ้านและชุมชนมีทางเลือกมากขึ้น และดำเนินการตามทางเลือกต่างๆ ได้ในเวลาที่เหมาะสม (เช่น ประเด็นที่ว่าด้วยการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ) เป็นต้น

TRF logo

Website นี้ดำเนินการโดย "ชุดโครงการวิจัยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ผู้ประสานงานชุดโครงการ ศุภกร ชิณวรรโณ  thailandadaptation@gmail.com

 

 

คำสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับประเทศไทย การประเมินความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การประเมินความล่อแหลมเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ชุมชนกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเกษตรกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทรัพยากรน้ำกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  การปรับตัวต่อภาวะสภาพอากาศรุนแรง

Keywords

Climate change in Thailand, Risk assessment, Vulnerability assessment, Climate change adaptation, Community and climate change impact, Community and climate change adaptation, Agriculture and climate change, Water resource and climate change, Farmer and climate change, Adaptation to extreme weather events